data-ad-format="autorelaxed">
การปลูกทานตะวัน
ฤดูปลูกทานตะวัน
- ในสภาพไร่ ปลูกในช่วงปลายฤดูฝน เดือนกันยายน-กลางเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนตกกระจายสม่ำเสมอตลอดช่วงฤดูปลูก 400-600 มิลลิเมตร
- ในสภาพนา ปลูกในช่วงฤดูแล้ง เดือนตุลาคม-ธันวาคม
- ในสภาพไร่ที่มีน้ำชลประทาน สามารถปลูกในช่วงดังกล่าวได้เช่นกัน
การเตรียมดินปลูกทานตะวัน
- ในสภาพไร่ ไถดะลึก 30-35 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7 วัน แล้วไถพรวนดินด้วยผาล 7 อีกครั้งหนึ่ง
- ในสภาพนา ไถดะลึก 20-25 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7 วัน แล้วไถพรวนดินด้วยผาล 7 อีกครั้ง ยกร่องปลูก อาจเป็นร่องสำหรับ ปลูกแถวเดียว หรือแถวคู่ โดยยกร่องกว้าง 1.5 เมตร
วิธีการปลูกทานตะวัน
ระยะปลูก 75 x 25 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 2 เมล็ดต่อหลุม ลึก 4-5 เซนติเมตร แล้วกลบหลุม ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุมหลังงอกแล้ว 10 วัน รวมประมาณ 8,533 ต้นต่อไร่
การดูแลรักษาทานตะวัน
การให้ปุ๋ยทานตะวัน
- ดินร่วนทราย หรือดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-8 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่พร้อมปลูก (รองก้นร่อง หรือก้นหลุม) 25 กิโลกรัม และอีกครึ่งหนึ่งให้ครั้งที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถวแล้วกลบ เมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังงอก หรือสูตร 16-8-8 อัตรา 60-70 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งครึ่ง ครึ่งแรกใส่รองก้นร่องพร้อมปลูก และครั้งที่ 2 โรยข้างแถวแล้วพรวนกลบ เมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังงอก
- ดินร่วนสีน้ำตาล ให้ปุ๋ยสูตร 20 - 20 - 0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 16-20-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูก และที่อายุ 20-25 วันหลังงอก ให้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถวแล้วกลบ
- ดินเหนียวสีดำ ให้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ พร้อมปลูก รองก้นหลุม 25 กิโลกรัม และอีกครึ่งหนึ่ง ให้ครั้งที่ 2 โดยโรยข้างแถวแล้วกลบ เมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังปลูก
- ดินเหนียวสีแดง ให้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่พร้อมปลูก (รองก้นร่อง หรือก้นหลุม) 25 กิโลกรัม และให้ครั้งที่สองอีก 25 กิโลกรัมเมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังงอก
การให้น้ำทานตะวัน
- ในสภาพนา หรือในสภาพไร่ การปลูกในช่วงฤดูแล้ง โดยการให้น้ำ ชลประทาน ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในปริมาณ 30-35 มิลลิเมตรต่อครั้ง ทุก ๆ 10-14 วัน และหยุดให้น้ำเมื่อสิ้นสุดระยะสร้างเมล็ด หรือประมาณ 20-25 วันหลังดอกบานแล้ว รวม 6-7 ครั้งตลอดฤดูปลูก
- ในกรณีที่ให้น้ำตามร่องระหว่างแถวปลูก ควรให้น้ำสูงระดับ 2 ใน 3 ของระดับความลึกของร่อง หลังให้น้ำแล้ว ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมแปลงปลูก เกิน 24 ชั่วโมง
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทานตะวัน
เก็บเกี่ยวทานตะวันตามช่วงอายุของพันธุ์ที่ปลูก หรือเมื่ออายุประมาณ 90- 120 วัน หรือหลังจากจานดอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วประมาณ 7-14 วัน โดยใช้กรรไกรตัดจานดอก โดยเลือกเฉพาะดอกที่สมบูรณ์
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวทานตะวัน
- นำจานดอกที่เก็บเกี่ยวแล้วตากแดด 1-2 แดด บนลานซีเมนต์ หรือตาก บนผืนผ้าใบและคลุมกองจานดอกทานตะวันด้วยผืนผ้าใบในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันน้ำค้าง
- กะเทาะเมล็ดจากจานดอก โดยใส่จานดอกในถุงผ้า หรือกระสอบแล้ว ใช้ท่อนไม้ทุบ หรือใช้เครื่องนวดถั่วเหลืองที่ดัดแปลงแล้วความเร็วรอบ 200 -350 รอบต่อนาที
- นำเมล็ดที่กะเทาะแล้วไปตากแดด 1-2 แดด เพื่อลดความชื้นในเมล็ด ให้เหลือประมาณ 12-14 เปอร์เซ็นต์ แล้วทำความสะอาดเมล็ด
- บรรจุเมล็ดที่ได้ในกระสอบป่านที่ไม่ชำรุด สะอาด
- ตัดแต่งปากกระสอบให้เรียบร้อย และเย็บปากกระสอบด้วยเชือกฟาง
- ควรวางกระสอบที่บรรจุเมล็ดทานตะวันในที่ร่ม บนพื้นที่มีแผ่นไม้รอง
การขนส่งทานตะวันหลังเก็บเกี่ยว
- ระหว่างการขนส่ง ไม่ควรให้เมล็ดทานตะวันถูกความชื้น
- รถบรรทุกต้องสะอาด และเหมาะสมกับปริมาณเมล็ดทานตะวัน
- ไม่ควรเป็นรถที่ใช้บรรทุกดิน สัตว์ มูลสัตว์ ปุ๋ยเคมี หรือสารป้องกัน กำจัดศัตรูพืช เพราะอาจมีการปนเปื้อน ยกเว้นจะทำความสะอาดอย่าง เหมาะสม ก่อนนำมาบรรทุก
- กรณีมีการขนส่งเมล็ดทานตะวันในช่วงฤดูฝน ต้องมีผ้าใบคลุม เพื่อป้องกัน เมล็ดทานตะวันถูกความชื้น และได้รับความเสียหาย
ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากทานตะวัน
ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ประมาณปลายพฤศจิกายนไปจนถึงปลายธันวาคม ที่จังหวัดลพบุรีจะมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ชักนำนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศทั่วไทยให้มาเยี่ยมมาเยือน รวมถึงทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม ของเราด้วยเช่นกัน สถานที่แห่งนั้นคือ “ทุ่งดอกทานตะวัน” ช่วงที่กล่าวข้างต้นที่จังหวัดลพบุรีจะเต็มไปด้วยทุ่งดอกทานตะวันสีเหลืองสดใสออกมาท้าทายแดดจ้า เชื้อเชิญให้พวกเราเข้าไปเก็บภาพถ่ายกันจนจุใจ เมื่อเที่ยวชมเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะพลาดไม่ได้และเป็นไฮไลท์ของปากท้องก็คือ “ของฝาก” นั่นเอง แล้วที่ทุ่งดอกทานตะวันจะมีอย่างอื่นเป็นของฝากได้อย่างไรถ้าไม่ใช่ “เมล็ดทานตะวัน”
เมล็ดทานตะวัน พระเอกของงานนี้จะถูกจับไปปรุงแต่ง ปรับรสชาติให้น่าลิ้มลอง กลายเป็น เมล็ดทานตะวันอบเกลือ เมล็ดทานตะวันอบน้ำผึ้ง เมล็ดทานตะวันอบสมุนไพร บางส่วนถูกส่งไปสร้างสัมพันธไมตรีกับแป้งสาลีกลายมาเป็น “คุ้กกี้เมล็ดทานตะวัน” เพิ่มความแปลกใหม่ สำหรับสนนราคาของเมล็ดทานตะวันอบรสชาติต่าง ๆ ถุงเล็กประมาณ 20-25บาท ถุงใหญ่ 35บาท 3 ถุง 100ถ้าต้องการมากกว่านั้น ก็สั่งต่างหากได้ตามต้องการ สำหรับคุ้กกี้อยู่ที่กล่องละ 35 บาท 3 กล่อง 100 หรือจะเลือกน้ำผึ้งดอกทานตะวัน ก็มีหลายขนาดตั้งแต่ประมาณ 70 บาทต่อขวด ถึง 170 บาทต่อขวด
หากท่านใดไม่พิศมัยของฝากที่เป็นของกิน ก็มีของที่ระลึกให้เลือกซื้อมีทั้งที่คั่นหนังสือรูปดอกทานตะวันสีสันสดใส กรอบรูปที่ตกแต่งด้วยดอกทานตะวัน เข็มกลัด ที่ติดผม และข้าวของเครื่องประดับต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยดอกทานตะวันน้อยใหญ่จากฝีมือของเหล่าชาวบ้านในชุมชมนั้น สนนราคาก็เริ่มตั้งแต่ 5 บาทเป็นต้นไป
น้ำผึ้งดอกทานตะวัน
ทานตะวันงอก
น้ำมันจากทานตะวัน
น้ำมันจากทานตะวัน
เมล็ดทานตะวัน
อ้างอิง pirun.ku.ac.th