data-ad-format="autorelaxed">
กัญชา
จากกรณีความสนใจในเวทีเสวนาวิชาการเปิดเสรีกัญชา เมื่อวานนี้ (30 ส.ค.58) โดยมีข้อเสนอจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) รวมทั้งศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างมองว่า กัญชา จัดเป็นพืชที่มีประโยชน์ในแง่ทางการแพทย์ ลดอาการปวด น่าจะมีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ด้านดังกล่าว มากกว่ามองว่าเป็นยาเสพติดเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายนั้น
วันนี้ (31 ส.ค.58) ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า จริงๆแล้วกัญชา จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย และประเทศไทยก็ใช้กันมานานในรูปแบบตำรับยา เพียงแต่เมื่อถูกกำหนดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ทำให้ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์อีก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย
ทั้งๆที่การปลูกกัญชา ถือเป็นภูมิปัญญาไทย อย่างน้ำมันกัญชา หลายรัฐของสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาว่าฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แม้ในไทยจะยังไม่มีงานวิจัย แต่รายงานหลายชิ้นก็บอกว่า มีประสิทธิภาพในเรื่องลดอาการปวด รวมทั้งอาการทางสมอง จิตประสาท อาการสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งตรงนี้หากเปิดทางให้สามารถวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จะมีประโยชน์มาก
ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ประโยชน์ต่างๆ หลายคนมองว่าต้องมีงานวิจัยมารองรับ แต่สิ่งสำคัญคือ หากไม่เปิดทางให้นักวิจัยมีอิสระในการศึกษา ผลการศึกษาก็จะออกมาไม่ได้ ดังนั้น หากเป็นไปได้แทนที่เราจะพึ่งพายารักษาโรคจากต่างประเทศอย่างเดียว อย่างการใช้มอร์ฟีน ก็ต้องซื้อจากต่างประเทศ เราควรหันมาพึ่งตัวเอง โดยควรมีกฎหมายในการเปิดโอกาสให้ปลูกกัญชา ซึ่งอาจทำเป็นฟาร์มกัญชาสำหรับทางการแพทย์ ในการศึกษาวิจัย โดยมีการควบคุมตรงนี้ และให้มีการวิจัยว่า ประโยชน์ทางการแพทย์มีอะไรบ้าง เพื่อเทียบเคียงกับต่างประเทศที่มีการศึกษาอยู่ ดีกว่าปล่อยทิ้ง ซึ่งน่าเสียดาย หากกัญชายังเป็นยาเสพติด นักวิจัยก็ศึกษาไม่ได้ ใบกระท่อมก็เช่นกัน มีการศึกษาในต่างประเทศว่าลดอาการปวดได้ดี หากมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังก็จะทำให้ประเทศไทย ใช้ประโยชน์จากพวกนี้ได้เต็มประสิทธิภาพ
ด้าน ภญ. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงการเปิดให้ใช้กัญชาอย่างเสรีในไทย ว่า ส่วนตัวเห็นว่ากัญชาถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามกฎหมายพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพราะฉะนั้นการปลูก การครอบครอง จำหน่ายหรือบริโภค ก็จะต้องผิดกฎหมาย ดังนั้น ข้อเสนอที่จะให้เสรีทันทีคงจะยังไม่ได้ แต่ว่าควรที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติม หากสามารถนำมาใช้ทางยาได้ และมีประโยชน์ที่ชัดเจนก็ควรจะได้มีการอนุญาตให้มีงานวิจัยและทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยา เพราะข้อมูลจากต่างประเทศพบว่ามีข้อมูลวิชาการที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วยรักษาโรคที่ค่อนข้างร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ภูมิแพ้ เป็นต้น
ข้อมูลจา matichon.co.th