คำถาม อยากทราบวิธีปลูกพืชบนพื้นที่ลาดชันบนภูเขาสูงครับ ขอถามหลายๆ วิธีนะครับ
ณัฐพงษ์ เขมะอนุจินดา
อ.ร้องกวาง จ.แพร่
คำตอบ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือตอนบน จะเป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ดอนเพียงส่วนน้อย จากปัญหาการเพิ่มของประชากร และการใช้ดินอย่างผิดวิธี ก่อให้เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของผิวหน้าดิน ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชมีผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงจนบางแห่งไม่สามารถปลูกพืชได้ เกษตรกร จึงต้องบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคม
การปลูกพืชบนพื้นที่ลาดชันบนภูเขาสูงในภาคเหนือ ซึ่งเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง นักวิชาการเกษตรได้แนะนำแนวทางไว้ดังนี้
การใช้แถบไม้พุ่มบำรุงดินและการใช้แถบหญ้าแฝก มีขั้นตอนและวิธีการ ดังนี้
1. การเตรียมวัสดุอุปกรณ์
- อุปกรณ์ในการจัดทำแนวระดับ ได้แก่ ไม้เอ-เฟรม ซึ่งเกษตรกรสามารถจัดทำได้ในพื้นที่ และไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก
- วัสดุที่ใช้ทำแถบอนุรักษ์ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ และกล้าพันธุ์พืชที่ใช้ปลูกเป็นแถบขวางความลาดชันของพื้นที่ ในกรณีที่จะใช้แถบไม้พุ่มบำรุงดิน แนะนำให้ใช้ถั่วมะแฮะ กระถิน ถั่วมะแฮะนก หรือครามป่า ส่วนกรณีที่ใช้แถบหญ้า แนะนำให้ใช้หญ้ารูซี่หญ้าเซททาเรียหญ้าแฝก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกรที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย และขึ้นอยู่กับแหล่งวัสดุว่ามีปริมาณที่เพียงพอหรือไม่
2. การจัดทำแถบพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ
- กำหนดเส้นแนวระดับหรือแนวแถบพืช โดยการทำการปักหลักเพื่อแสดงแนวแถบพืชแต่ละแถบ จากพื้นที่ด้านล่างขึ้นไปสู่พื้นที่ด้านบน ซึ่งโดยปกติแล้ว แนะนำให้ปักหลักเป็นแนวตรงกลางแปลง ให้แต่ละหลัก หรือแต่ละแถบพืช ห่างกัน 3 เมตร ตามแนวดิ่ง
- การวางแนวระดับหรือวางแนวแถบพืช หลังจากกำหนดแนวแถบพืชหลักบริเวณกลางแปลง หรือบริเวณพื้นที่ที่เป็นตัวแทนของความลาดชันเรียบร้อยแล้วก็ทำการวางแนวระดับ จากจุดกลางแปลงออกไปทางซ้ายและขวา โดยใช้ไม้เอ-เฟรมและควรปักหลักตรงจุดที่ได้ระดับเป็นแนวไว้ให้ชัดเจน การวางแนวระดับ โดยการใช้ไม้เอ-เฟรม เริ่มจากเส้นฐานกลางแปลง โดยการวางไม้เอ-เฟรม ปรับขาข้างใดข้างหนึ่งจนลูกตุ้มถ่วงตรงกลาง จึงปักหลักตรงจุดที่ 1 และจุดที่ 2 แสดงว่า จุดที่ 1 และ 2 อยู่แนวระดับเดียวกันขยับไม้เอ-เฟรม และปักไม้หลักไปจนสุดพื้นที่ทั้ง 2 ด้าน ก็จะได้เส้นแนวระดับ
3. การปลูกแถบพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ
- การเลือกใช้แถบไม้พุ่มบำรุงดิน เมื่อทำแนวระดับแล้ว ควรมีการเตรียมดินพอสมควร โดยใช้จอบสับดินเป็นร่องยาว โรยเมล็ดพืชตระกูลถั่ว การปลูกพืชตระกูลถั่วแนะนำให้ปลูกเป็นแถวคู่ ห่างกัน 50 เซนติเมตร เมื่อโรยเมล็ดเสร็จแล้ว ก็กลบดิน เกษตรกรสามารถเลือกปลูก โดยวิธีกระทุ้งหลุมปลูกก็ได้ โดยให้ระยะหลุมในแต่ละแถวห่างกัน 10-20 เซนติเมตร การผสมเมล็ดพืชตระกูลถั่วมากกว่าหนึ่งชนิด ก็สามารถกระทำได้เพื่อให้ได้แถบพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่ถาวรและมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้กระถินผสมถั่วมะแฮะ ในอัตรา 1:1 ปลูกโรยเป็นแถวคู่เช่นเดียวกัน สำหรับการดูแลแถบไม้พุ่ม ให้ทำการตัดแต่งแถบไม้พุ่มทุกเดือน ในช่วงฤดูกาลปลูกพืช โดยตัดแต่งไม่ให้สูงเกิน 1 เมตร จากพื้นดิน และใช้เศษของพืชที่ตัดเป็นวัสดุคลุมบำรุงดินในพื้นที่ปลูกพืชระหว่างแถบไม้พุ่มบำรุงดินทั้งหมด
- การเลือกใช้แถบหญ้า ทำการเตรียมดินตามแนวระดับที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน ในกรณีที่ใช้หญ้าที่ปลูกจากเมล็ด เช่น หญ้ารูซี่หญ้าเซททาเรีย ก็ทำการหว่านให้เป็นแถบกว้างไม่เกิน 1 เมตร ส่วนในกรณีที่ใช้หน่อปลูก เช่น หญ้าบาเฮีย และหญ้าแฝก ก็ขุดหลุมตามคำแนะนำ การดูแลรักษาแถบหญ้า ควรตัดแต่งทุกเดือนเช่นกัน ในช่วงฤดูปลูกพืช และใช้เศษพืชเป็นวัสดุคลุมบำรุงดิน หรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นตามต้องการ เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น
ข้อมูลจาก
- นาย รัตวิ
- naewna.com/local/169624