การปลูกมะม่วงหิมพานต์
การปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ มะม่วงหิมพานต์ ชื่อนี้หลายคนอาจคุ้นเคยกันดี แถวบ้านผมเรียก ยาโห้ย/ยาโหย และมีบางคนเรียก ยาหมู/ย่าหมู หรือ ยามู่ (จ.กระบี่) ไม่ทราบแหล่งกำเนิดที่แน่ชัด หลายถิ่นเรียกยาร่วง หัวครก กาหยี กาหยู เล็ดล่อ หรือ ท้ายล่อและอื่นๆ อีก จริงๆ มันก็คือ มะม่วงหิมพานต์ นี่เอง
ประวัติการนำเข้ามาในประเทศไทยนั้น สันนิฐานว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี ณ ระนอง) ได้นำเข้า มาจากอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2444 พร้อมกับต้นยางพารา และหลังจากนั้นได้มีผู้นำเข้ามาอีกหลายครั้งจากอินเดีย ไลบีเรีย โดยกรมวิชาการเกษตร (กรมกสิกรรมเดิม) เป็นผู้ทดลองศึกษาค้นคว้าคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปลูกให้ได้ผลผลิตสูงในประเทศไทย
พืชชนิดนี้ชอบน้ำแต่หากโดนน้ำท่วมก็ไม่รอด ต้นมะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ผลยืนต้นและมีอายุหลายปี ตระกูลเดียวกับมะม่วง พืชชนิดนี้ชอบอากาศร้อนและฝนชุก (แต่น้ำต้องไม่ท่วมราก) เป็นต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ แต่มีใบร่วงและขึ้นใหม่ตลอด มีความสูงราว 6-12 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้างออกไปโดยรอบ 4-10 เมตร กิ่งทอดยาวแผ่ออกข้าง ในกิ่งใหญ่ หรือส่วนโคนของกิ่งใหญ่
ถ้าปล่อยตามธรรมชาติจะไม่มีกิ่งแขนงเกิด แต่ถ้าได้รับการตัดแต่งหรือบังคับ ก็จะมีกิ่งแขนงแตกออกตามทิศทางที่เราต้องการได้ มีใบหนาคล้ายรูปไข่ ปลายใบป้อม โคนใบแหลมยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ออกช่อดอกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ประมาณ 15-25 เซนติเมตร บางดอกมีแต่เกสรตัวผู้ บางดอกมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย อยู่ในช่อดอกเดียวกัน
การผสมพันธุ์จึงทำการผสมในช่อเดียวกัน ลักษณะดอกเป็นช่อ ในหนึ่งดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล 5 กลีบ เมื่อแรกบานกลีบดอกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมเหลือง แต่ละดอกมีขนาด เล็กมาก เมื่อเวลาดอกบาน กลีบดอกทั้ง 5 ม้วนเข้าหากลีบเลี้ยง คงโผล่ให้เห็นยอดเกสรตัวเมียชัดเจน เกสรตัวผู้ อยู่ภายในดอก 9 อัน และมีรังไข่อยู่ที่ก้านเกสรตัวเมีย ส่วนที่ใช้ประโยชน์กันมากคือ ผลและเมล็ด
ซึ่งมีลักษณะที่มีเมล็ดอยู่ด้านนอกติดอยู่ตรงปลายสุดของผล เมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียว และจะขยายเติบโตจนใหญ่กว่าเมล็ดที่ติดอยู่ เมื่อผลโตได้ขนาด เมล็ดก็หยุดเจริญเติบโตและเปลี่ยนเป็นสีเป็นสีเทา และพร้อมกับผลก็เริ่มขยายเบ่งตัวพองโตขึ้นจนใหญ่กว่าเมล็ดเป็นสีต่างๆ ตามสายพันธุ์ (เหลือง แดง ม่วง) รับประทานได้ มีรสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อยเพราะมีน้ำยางจากในผล ผลพอห่ามนำมาทำแกงคั่ว แกงไตปลา หรืออื่นๆ ผลสุกรับประทานสดได้ เมล็ด จะมีขนาดยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ถ้าผ่าเมล็ดออกเปลือกเมล็ดจะหนาราว 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดในมีสีขาวนวลประกบกัน 2 ซีก เปลือกหุ้มเมล็ดมียางสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะเป็นกรด ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้พองเป็นแผลเปื่อย แต่มีประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมมาก
มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชที่ไม่ต้องลงทุน ทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด
ประโยชน์ของมะม่วงหิมพานต์
1.ผล ใช้รับประทานเป็นอาหาร ทำแยม น้ำส้มสายชู เครื่องดื่ม ไวน์ น้ำของผลมะม่วงหิมพานต์ ใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้อาเจียน เจ็บคอ ขับปัสสาวะ และขับเหงื่อได้ดี
2.เปลือกหุ้มเมล็ด นำมาสกัดได้กรดน้ำมัน ซึ่งมีประโยชน์ทางอุตสาหกรรมใช้ทำผ้าเบรค แผ่นคลัช หมึกพิมพ์ กระเบื้องยางปูพื้น สีทาบ้าน และอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 400 ชนิด และยังทำเป็นยาแก้โรคเหน็บชา โรคเลือดคั่ง และโรคผิวหนัง
3.เยื่อหุ้มเมล็ดใน ใช้เป็นอาหารสัตว์
4.เมล็ดใน ใช้รับประทานมีคุณค่าทางอาหารสูง ใกล้เคียงไข่ นม เนื้อ ไม่เพิ่มไขมันในเส้นเลือดและตับ เป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายที่สุดดีกว่าพืชตระกูลถั่วทั่วไป
5.ใบและยอดอ่อน รับประทานเป็นผักเคียง มีสรรพคุณบรรเทาโรคท้องร่วง บิด ริดสีดวง
6.ใบแก่ นำมาบดให้ละเอียด ใช้พอกแผลที่เกิดจากไฟไหม้ หรือนำมาขยี้และใช้สีฟันทำให้ฟันสะอาด ขาว
7.ลำต้น ทำหีบใส่ของ ลังไม้ เรือ แอก ดุมล้อเกวียน และอื่นๆ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง
8.ยางจากเปลือกลำต้น ทำหมึกประทับตราผ้า น้ำมันขัดเงา เคลือบหนังสือ น้ำประสานในการบัดกรีโลหะ และใช้ทำกาว 9.เปลือกลำต้น แก้ปวดฟัน ต้มกินแก้โรคท้องร่วง และผิวหนังพุพอง
10.ราก เป็นยาฝาดสมานแผล และแก้โรคท้องร่วง
การขยายพันธุ์มะม่วงหิมพานต์
สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด และการตอน การติดตา ทาบกิ่ง หรือการเสียบข้าง การปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ หากเป็นการเพาะเมล็ดในถุงพลาสติก ก่อนนำไปปลูกในแปลงควรขุดหลุมให้กว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 6 เมตร เพราะเป็นไม้พุ่มกว้าง ดินปลูกควรผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 3-5 กิโลกรัม คลุกกับดินบนที่กองไว้ กลบลงในหลุมประมาณครึ่งหลุม นำต้นมะม่วงหิมพานต์ที่จะปลูกวางลงในหลุมให้โคนต้นอยู่เหนือปากหลุมเล็กน้อย ปักไม้พยุงลำต้นโดยใช้เชือกผูกติด กับต้นมะม่วงหิมพานต์เพื่อป้องกันลมโยก จึงนำดินที่เหลือกลบหลุมให้แน่น ควรปลูกมะม่วงหิมพานต์ไร่ละ 45 ต้น ให้เป็นแถวตรงระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 6 เมตร ระหว่าง แถวมะม่วงหิมพานต์ควรปลูกพืชแซม เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วต่างๆ ในช่วง 1-2 ปีแรก ก่อนมะม่วงหิมพานต์จะออกผล เพราะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และยังช่วยกำจัดวัชพืชด้วย
ข้อมูลจาก prd.go.th