นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการพบชาวนา หัวไวใจสู้ ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร "การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาข้าวเหนียว" ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ว่า ข้าวเหนียวนับเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม นอกจากการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกข้าวเหนียวนำรายได้เข้าสู่ประเทศอีก แต่กระบวนการผลิตและการค้าข้าวเหนียวของไทย ยังประสบปัญหาทั้งด้านประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาองค์ความรู้ของชาวนา การสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาด ซึ่งราคาข้าวเปลือกในแต่ละปีมีความผันผวนมาก ส่งผลให้ชาวนาส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนารายย่อยจากการปลูกข้าวไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตข้าวเหนียวไทยและชาวนา
ทั้งนี้ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการปฏิรูปข้าวเหนียว ในภาคการผลิตนั้น นอกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมการข้าว ได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตในลักษณะให้มีการปรับลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ใช้สารเคมี ด้วยวิถีกสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ชีวิตที่พอเพียง ตามบันได 9 ขั้น เพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืนของชาวนาธรรมชาติ เป็น Smart Farmer ข้าวเหนียว โดยในช่วงฤดูนาปี 2558/59 จะดำเนินการนำร่อง 4 จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น ส่วน ฤดูนาปรังปี 2559 ดำเนินการในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และชัยภูมิ
สำหรับในการจัดอบรมในช่วงฤดูนาปี 2558/59 ได้เปิดเวทีรับสมัครชาวนาหัวไวใจสู้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1) อำเภอสันป่าตอง และอำเภอหางดง จังหวัดเชียงราย 2) อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงใหม่ 3) อำเภอบ้านผือ และอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และ 4) อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อำเภอละ 40 คน โดยได้ดำเนินการจัดอบรมชาวนาธรรมชาติ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งให้มีการทำนาธรรมชาติ โดยจะมีทีมงานตรวจเยี่ยมแปลงนาอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความรู้กันถึงแปลงนาของผู้เข้าอบรมกันอย่างจริงจัง หลังจากนั้นจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต และสรุปประเมินผล ทั้งความสำเร็จและข้อปรับปรุง เพื่อนำไปขยายผลต่อในรอบนาปรังที่ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในค่ายทหารของแต่ละจังหวัดต่อไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยมีการผลิตข้าวเหนียวเพื่อบริโภคภายในประเทศร้อยละ 95 และส่งออกในภูมิภาคอาเซียนและตลาดเอเชียร้อยละ 5 ของผลผลิต โดยมีพื้นที่เพาะปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนบน ประมาณ 16.7 ล้านไร่ ผลผลิต 5 – 8 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเหนียวอันดับหนึ่งในตลาดโลก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในอาเซียนและตลาดเอเชีย ที่เป็นประเทศผู้นำข้าวเหนียวกว่าร้อยละ 50 ในตลาดโลกยังนิยมบริโภคข้าวเหนียวจากไทยด้วย
ข้อมูลจาก
naewna.com/local/165448