ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักและหันมาให้ความสนใจกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อหลีกหนีจากต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงขึ้นจนรับไม่ไหว จนต้องหันมาพึ่งพาปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เองจากวัสดุเหลือใช้ทางภาคเกษตรที่มีอยู่จำนวนมาก
นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจด้านการพัฒนาและจัดการที่ดิน การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตลอดจนด้านการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์/สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะในยุคที่ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร กรพัฒนาที่ดิน จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร มุ่งเน้นให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลดการพึ่งพาสารเคมีทางการเกษตรให้ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และได้ปรับปรุงฟื้นฟูคืนความสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรดิน เกษตรกรจะได้มีที่ดินทำกินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรแล้วจำนวน 73,699 กลุ่ม เกษตรกรจำนวน 3.6 ล้านราย และมีบางกลุ่มที่มีความพร้อมเข้าสู่การผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานได้ ในปีนี้กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้พัฒนากลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 117 กลุ่ม เกษตรกร 585 ราย ในพื้นที่ 43 จังหวัด โดยให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมและเต็มใจเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร ดำเนินการยื่นสมัครขอรับการรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์กับกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานข้าวอินทรีย์กับกรมการข้าว หรือในกรณีที่มีความพร้อมยื่นสมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)
อย่างไรก็ดี กลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ฯ บางกลุ่ม เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยจิตวิญญาณ เป็นวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล เรียกว่า“เกษตรอินทรีย์พื้นบ้าน” เกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงหน่วยตรวจรับรองได้ เพราะมีค่าตรวจรับรองสูงและไม่คุ้มกับผลผลิตที่มีน้อย รวมทั้งมีระบบเอกสารให้บันทึกจำนวนมาก การขับเคลื่อนกลุ่มผลิตเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องทำสอดคล้องกันทั้งระบบตั้งแต่การผลิต การรับประกันคุณภาพจนถึงการตลาด ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตต้องการเข้าสู่ตลาดระดับใดที่คู่ค้าและผู้บริโภคยอมรับ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ คือการดำเนินการรับรองแบบมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า พีจีเอส (Participatory Guarantee Systems : PGS) ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ให้ดำเนินโครงการ “Promoting Participatory Guarantee Systems (PGS) for Small Scale Organic Farming in Thailand” นำร่องในพื้นที่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ลำปาง เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และนครปฐม
นายสมโสถติ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Training for Master Trainer หลักสูตร “ผู้จัดการกระบวนการรับรองการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม” ให้กับเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่เรียกว่า มิสเตอร์เกษตรอินทรีย์ ที่รับผิดชอบปฏิบัติงานโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ปี 2558 รวมถึงผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมโครงการ เกษตรกรแกนหลักเป้าหมายโครงการ PGS ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานและเครือข่ายที่ร่วมบูรณาการดำเนินงานกับกรมพัฒนาที่ดินด้วย เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ตามเป้าหมาย
โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 5 รุ่น ซึ่ง รุ่นที่ 1 จัดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 15-17 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ จ.เพชรบูรณ์ ส่วนรุ่นที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมเกษมการ์เด้น อ.เมือง จ.สุรินทร์ รุ่นที่ 3 วันที่ 2-4 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รุ่นที่ 4 วันที่ 9-11 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม และรุ่นที่ 5 วันที่ 16-18 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมเกษมการ์เด้น อ.เมือง จ.สุรินทร์
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะทำให้มิสเตอร์เกษตรอินทรีย์ระดับพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ได้ทราบถึงบทบาทของตนเอง รวมถึงแนวทางและขั้นตอนการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยใช้กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม ที่สำคัญเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับองค์ความรู้ด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แนวทางและขั้นตอนจัดทำตามกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม จนผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในที่สุด
ข้อมูลจาก naewna.com/local/164740