หนุ่มสถาปนิก เคยใช้ชีวิตในผ้าเหลืองนาน 5 ปี ผันตัวเองเป็นเกษตรกรปลูกไผ่กิมซุ่ง ขายทั้งกิ่ง และหน่อ สร้างรายได้ปีละล้าน เผยเพิ่งปลูกปีแรก พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาฟรี...
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายเอกชัย ธนผลผดุงกุล นายอำเภอพรรณานิคม จ.สกลนคร ได้ลงพื้นที่ไร่ปลูกไผ่ ที่ไร่สวนไผ่กิมซุ่ง หรือ ไร่สีวลีพืชผล เลขที่ 99 ม.15 ต.ไร่ อ.พรรณานิคม ของนายเดโช สู่โนนทอง อายุ 44 ปี หนุ่มสถาปนิกผู้ผันตัวเองไปสู่อาชีพเกษตรกรเต็มตัว โดยการปลูกไผ่กิมซุ่งจำนวน 1,000 หลุม จำหน่ายสร้างรายได้
นายเดโช บอกว่า ในอดีตเคยอยู่บริษัทญี่ปุ่น สร้างคอนโด สร้างบ้านขาย จนเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ประมาณ 2-3 ล้าน คิดอยากใช้ชีวิตในชนบท จึงชวนภรรยาลาออกจากงาน แล้วกลับมาอยู่ที่บ้านภรรยาที่สกลนคร ต่อมาเปิดกิจการร้านจำหน่ายเครื่องมือทางการเกษตรทุกชนิด รวมทั้งปุ๋ย มีลูกค้ามาติดต่อซื้อจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเงินเชื่อมากกว่า และเก็บเงินไม่ได้จึงปิดกิจการ แต่ไม่เคยคิดฟ้องร้องเพราะราคาพืชผลไม่ดี สภาพอากาศก็แห้งแล้ง ชาวนาชาวสวนก็พลอยย่ำแย่ไปด้วย จึงรู้สึกเห็นใจ
จากนั้นได้ออกบวชอยู่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ปลีกวิเวกตามป่า ถ้ำและภูเขา รู้สึกเข้าถึงธรรมะ ส่วนภรรยาไปทำงานที่กรุงเทพ เช่นเดิม โดยตนได้ใช้ชีวิตอยู่ในผ้าเหลืองเป็นเวลา 5 ปี จนได้รับแจ้งว่าที่บ้านถูกโจรกรรมทรัพย์สินไปหมด ไม่เหลือแม้กระทั่งชุดเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ถ้วยชาม พระเครื่องกว่า 500 องค์ จึงสึกออกมาและไม่ได้ติดใจอะไร มองว่าของที่เขาขโมยไปอาจจะเป็นของเขา คิดได้อย่างนี้ก็สบายใจขึ้น และชวนภรรยากลับมาปฏิบัติธรรมอยู่บ้าน จึงคิดได้ว่า จะต้องทำอะไรสักอย่างที่สวนกระแสและไม่ตามใคร จึงเป็นที่มาของการปลูกไผ่กิมซุ่ง ในพื้นที่ 11 ไร่ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ปลูกแล้วขายได้ทั้งกิ่งและหน่อ โดยกิ่งขายกิ่งละ 50 บาท หน่อกิโลกรัมละ 35-40 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีมาก ตนปลูกมา 1 ปี ขายกิ่งและหน่อ ปีละ 1 ล้าน เฉลี่ยกอละ 2 พันบาท/ต่อปี
สำหรับวิธีปลูก เตรียมดินห่างระหว่างต้น 3x3 เมตร เตรียมหลุม 50x50x50 จากนั้นใช้ปุ๋ยคอกรองพื้น นำไผ่ลงปลูกโดยเฉียงกับพื้นดิน 60 องศา และหมั่นดูแลเรื่องหญ้าที่จะขึ้นปกคลุม หมั่นใส่ปุ๋ยคอก ต่อระบบน้ำอย่าให้ขาด ใช้เวลา 7-9 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ เชื่อว่าหากกิ่งและหน่อออกอย่างสม่ำเสมอ สามารถทำรายได้ให้ถึง 2 พันบาทต่อหลุม/ต่อปี ซึ่งอยากให้เกษตรกรหันมาปลูกไผ่กิมซุ่ง เพราะเลี้ยงง่ายไม่ขี้โรค
“ท่านจะมีรายได้เพิ่มทันตา และพร้อมที่จะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรเข้ามาศึกษา ในอนาคต สถานที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับศูนย์เรียนรู้ อีกด้วย” นายเดโช กล่าว
ขณะที่นายอำเภอพรรณานิคม ได้กล่าวชื่นชมนายเดโช ที่กล้าทำการเกษตรโดยไม่ตามใคร ไม่ใช้สารเคมี พร้อมเชิญชวนเกษตรกรหันมาปลูกไผ่กิมซุ่ง เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ข้อมูลจาก
thairath.co.th/content/506598