“เปิดเออีซี ผลไม้ไทยจะได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากเรามีพันธุ์ดี ตัวเกษตรกรไทยก็เก่ง และยังมีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยกว่าหลายประเทศ แต่เราคงจะอยู่นิ่งกับที่ไม่ได้ ต้องพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพขึ้นตลอดเวลา เพราะในอนาคตชาติอื่นในอาเซียนจะก้าวทันเราได้”
นายมนู โป้สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมจัดการผลไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวสวนผลไม้ให้ตื่นตัวรับสถานการณ์...ด้วยวันนี้ผลไม้หลายชนิดของบ้านเรา ถูกนำไปปลูกในอาเซียนกันมาก
ทุเรียนหมอนทอง... อินโดนีเซียก็ปลูก แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศมีฝนตกชุก ทำให้ดอกตัวผู้แตกเสียหาย การติดลูกเลยน้อย รสชาติยังไม่ดีเท่าเรา เนื้อแฉะเพราะฝนเยอะ เวียดนามก็เช่นกันมีปัญหาไม่ต่างกัน
“ลาวก็ปลูก แม้สภาพอากาศจะคล้ายบ้านเรา แต่เกษตรกรเขายังไม่มีความรู้เรื่องการตัดแต่งเก็บลูกที่สมบูรณ์ไว้ แต่ละกิ่งควรจะเก็บไว้กี่ลูก แต่ละลูกควรห่างเท่าไร เลยทำให้คุณภาพของผลผลิตยังสู้เราไม่ได้”
ตัดแต่ง เลือกผลที่สมบูรณ์
ส้มโอ ทั้งพันธุ์ขาวใหญ่ ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง และทองดี พันธุ์ดีของไทยถูกนำไปปลูกทั่วไปในอาเซียนจนถึงจีน แต่อีกนั่นแหละไปปลูกในที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่าบ้านเรา ส้มโอหวานๆเลยกลายเป็นมีรสขมมาปนแทรก
เรียกว่าผลไม้ดีๆของบ้านเราเกือบทุกอย่าง กระท้อน มะขามหวาน มังคุด ฝรั่ง มะม่วง ฯลฯ โดนเพื่อนบ้านนำไปปลูกหวังจะก๊อบปี้ไทยทั้งสิ้น...วันนี้เขายังสู้เราไม่ได้ แต่ในอนาคตด้วยเทคโนโลยีวิชาการที่ก้าวหน้า การสื่อสาร ที่รวดเร็ว การไปมาหาสู่ค้าขายมีมากขึ้น ความไม่รู้จะกลายเป็นรู้ทันเราได้ไม่ยาก
มังคุดไทย ผลใหญ่ เนื้อแน่น
“ต่อไปในยุคเออีซี เกษตรกรสวนผลไม้จะต้องรู้จักหวงพันธุ์ หวง เทคนิคให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดรอดไปอยู่ในมือของต่างชาติที่จะทำ สินค้ามาขายแข่งกับเรา”
ที่สำคัญ นายมนู บอก ว่า เกษตรกรจะทำเหมือนเดิม ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน ข้างบ้านแบบปล่อยทิ้งตามบุญตามกรรม ถึงคราวผลไม้สุกค่อยเก็บเกี่ยวไปขาย ทำไม่ได้อีกต่อไป เพราะทำสวนแบบนี้จะได้ผลผลิตแบบที่ประเทศเพื่อนบ้านทำได้ ขายไปมีแต่ขาดทุน เพราะเพื่อนบ้านทำได้ถูกกว่า เนื่องจากต้นทุนเขาถูกกว่า
หนทางที่จะอยู่รอดได้ ต้องทำสวนผลไม้แบบมืออาชีพ ต้องรู้ให้จริงในสิ่งที่ตัวเองทำและทำจริง...ต้องรู้ให้ลึกทั้งเรื่องปลูก ดูแลบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว รวมทั้งรู้ไปจนถึงสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน ที่เหมาะสมกับปลูกผลไม้แต่ละชนิด
ไม่ใช่เห็นคนที่นั่นที่นี่ปลูกแล้วได้ดีอยากจะปลูกบ้าง ถ้าปลูกไว้กินเล่น 2-3 ต้นทำได้...แต่ถ้าจะปลูกไว้ขายแบบยึดเป็นอาชีพทำอย่างนั้นไม่ได้
มะม่วง อีกหนึ่งผลไม้ไทยที่จะโดนประเทศเพื่อนบ้านก๊อปปี้
“ดูอย่างมะขามหวาน ปลูกที่เพชรบูรณ์กับเลยถึงจะหวาน ถ้าไม่ศึกษาหาความรู้ให้ดี ปลูกแล้วเปรี้ยวจะทำอย่างไร มังคุดก็เหมือนกัน ปลูกในพื้นที่ฝนชุกตั้งแต่ชุมพรลงไป เปลือกจะหนา ยิ่งปลูกที่อินโดนีเซีย ยิ่งหนาเข้าไปใหญ่ และเคยสงสัยไหม ทำไมมังคุดที่นนทบุรี ปราจีนบุรี ถึงมีราคาแพงนั่นเพราะพื้นที่เหมาะสม ฝนไม่มากไม่น้อยเปลือกบาง” ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมจัดการผลไม้ กรมส่งเสริมการเกษตรฝากเป็นข้อคิดให้ชาวสวนผลไม้เตรียมตัวรับมือเออีซี.
ข้อมูลจาก
ชาติชาย ศิริพัฒน์
thairath.co.th/content/503570