ส่งออกข้าวฝืด ทุบธุรกิจโรงสีซบ บางรายหยุดการผลิต ลามกระทบบายโปรดักต์ขาดตลาด ดันราคาปลายข้าวขาวทะลุตันละ 10,000 บ. ซ้ำยังขาดทุนจากการเข้าร่วมโครงการซื้อข้าวชดเชยดอกเบี้ย บางรายผันตัวไปเป็นผู้ส่งออกแต่ก็เจอจีนใช้มาตรการสกัดนำเข้าสุดโหด
หลังจากเกิดปรากฏการณ์ราคาส่งออกปลายข้าวขาว ปรับสูงขึ้น 330 เหรียญสหรัฐ จากที่เคยตันละ 290-300 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหากคิดกลับมาเป็นราคาข้าวในประเทศจะอยู่ที่ตันละ 10,000 บาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งทางฝั่งผู้ส่งออกข้าวคาดว่าเกิดจากความต้องการใช้ปลายข้าวในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นจนปริมาณสินค้าในตลาดไม่เพียงพอ
แหล่งข่าวจากวงการโรงสีเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาสินค้าส่วนที่เหลือเกี่ยวกับข้าว (บายโปรดักต์) ทั้งปลายข้าว รำข้าว และแกลบปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมดจริง โดยราคาปลายข้าวขาวเอวัน ที่เดิมราคาตันละ 9,400-9,500 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9,600-9,700 บาท แต่ในตลาดไม่มีสินค้าจำหน่าย
การปรับขึ้นไม่ใช่เพราะขายดี อย่างที่ผู้ส่งออกคิด แต่เป็นผลจากการส่งออกข้าวชะลอตัวลง 3 เดือนแรกหายไป 3.6% การซื้อข้าวก็ไม่มี ทำให้โรงสีบางโรงหยุดสี ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงขั้นเกิดปัญหาสภาพคล่องต้องปิดตัวยาว โรงสีส่วนหนึ่งปรับตัวโดยการสมัครเข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกชดเชยดอกเบี้ย 3% กับกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็หนีไม่พ้นเพราะราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรตันละ 8,300-8,500 บาท แต่พอส่งออกลด ราคาข้าวเปลือกลดลง เหลือตันละ 7,700-7,800 บาท ขาดทุน ตันละ 300-500 บาทต้องหยุดสีชั่วคราวเช่นกัน ส่วนโรงสีอีกกลุ่มที่ผันตัวเองไปส่งออก ก็ได้รับผลกระทบจากการส่งออกข้าวที่ชะลอตัวลงเช่นกัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงสี 20 ราย ซึ่งประกอบธุรกิจส่งออก กำลังได้ผลกระทบจากการปรับปรุงระเบียบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าข้าวที่ส่งออกไปจีน เพราะจีนบังคับให้ผู้ส่งออกไทยต้องขึ้นทะเบียนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าเป็นผู้ประกอบการส่งออกไปจีน และส่งออกสินค้าต้องได้รับการตรวจสอบซ้ำโดยสำนักงานกำกับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และกักกันโรคแห่งชาติของจีนหรือAQSIQตรวจสอบสินค้าที่ปลายทางจากเดิมที่มีการตรวจสอบโดยบริษัทตรวจสอบคุณภาพของจีน (เซอร์เวเยอร์) ชื่อ CCIC ที่ตรวจสอบสินค้าจากต้นทางที่ประเทศไทยอยู่แล้ว
"สาเหตุที่จีนบังคับใช้มาตรการเข้มงวด เพราะอ้างว่าตรวจสอบพบดอกหญ้าและแมลงปนเปื้อน จึงใช้มาตรการสอบ 2 ชั้น แต่โรงสีเห็นว่าซ้ำซ้อน เพิ่มภาระต้นทุนให้ผู้ส่งออกโรงสีซึ่งเป็นรายเล็ก ส่วนผู้ส่งออกรายใหญ่ ๆ ก็คงปรับตัวได้อยู่แล้ว จึงได้ร้องไปที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"
แนวทางแก้ไขเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ได้จัดส่งรายชื่อผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศให้กับรัฐบาลจีนแต่กระทรวงเกษตรฯ ฝ่ายไทยแจ้งว่า รัฐบาลจีนไม่ยอมรับรายชื่อนี้ และบังคับให้ผู้ส่งออกทุกคนต้องขึ้นทะเบียนภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อให้รัฐบาลจีนพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม ถ้าหากไม่ทันก็จะส่งออกไปจีนไม่ได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ประกอบการขอให้รัฐบาลไทยหารือในประเด็นดังกล่าวกับรัฐบาลจีน เพราะจีนนำเข้าข้าวจากหลาย ๆ ประเทศ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งมีการส่งออกข้าวผ่านพรมแดน ทางผู้ประกอบการอยากทราบว่า รัฐบาลจีนมีแนวปฏิบัติกับประเทศเหล่านี้เหมือนหรือแตกต่างจากไทยอย่างไร
ทั้งนี้ การส่งออกปลายข้าวไทยในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) 2558 มูลค่า 2,786.95 ล้านบาท ลดลง 21.04% โดยตลาดสำคัญที่มีการส่งออกลดลง อาทิ อินโดนีเซีย 481.13 ล้านบาท ลดลง 1.75% คิดเป็นสัดส่วน 17% เซเนกัล 444.24 ล้านบาท ลดลง 42.76% คิดเป็นสัดส่วน 16% จีน 424.23 ล้านบาท ลดลง 56.44% คิดเป็นสัดส่วน 15% แต่ตลาดไนจีเรียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักเบอร์ 1 ซึ่งมีสัดส่วน 29% มีมูลค่า 807.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170% คิดเป็นสัดส่วน 29%
ข้อมูลจาก matichon.co.th