ลดต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจ เกษตรกรทำได้ ส่วนการลดต้นทุนโดยตรงด้านแรงงานคน ที่ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรขาดแคลนและมีราคาแพง ซึ่งปกติการจ้างแรงงานคนขุดมันสำปะหลัง 1 ไร่ ใช้แรงงาน 6 คน คนละ 300 บาทต่อวัน
ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทยค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกทั้งปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งความผันผวนของตลาด ราคาพืชผลตกต่ำ ทำให้เกษตรกรขาดทุนหรือไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้น แนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรมีกำไรจากการผลิตพืชมากขึ้น ก็คือการเพิ่มผลผลิตพืชต่อหน่วยให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตหรือต่อไร่ลดลงได้
“การลดต้นทุนการผลิตพืชนั้นเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เอง กรณีมันสำปะหลัง หาเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จะเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เช่น พันธุ์ระยอง 72 ระยอง 9 เหมาะกับสภาพดินทราย-ดินทรายร่วน หรือระยอง 5 เหมาะกับดินร่วนเหนียว พันธุ์เกษตรศาสตร์ เหมาะกับดินทรายจัด เป็นต้น เนื่องจากเกษตรกรลงทุนค่าท่อนพันธุ์ในราคาเดิมแต่สามารถเพิ่มผลผลิตมากกว่าเดิม ก็ถือว่าลดต้นทุนต่อหน่วยลงได้แล้ว ซึ่งต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1.20 บาท/กก. ขายได้ 2.50 บาท/กก. มีส่วนต่างอยู่ที่ 1.30 บาท/กก. ฉะนั้นเกษตรกรจะกำไรเฉลี่ย 1,000 บาท/ตัน หากได้ผลผลิตมันสำปะหลัง 5 ตัน/ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 5,000 บาท” นาย กอบเกียรติ ไพศาลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชไร่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กล่าว
ส่วนการลดต้นทุนโดยตรงด้านแรงงานคน ที่ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรขาดแคลนและมีราคาแพง ซึ่งปกติการจ้างแรงงานคนขุดมันสำปะหลัง 1 ไร่ ใช้แรงงาน 6 คน คนละ 300 บาทต่อวัน เท่ากับมีต้นทุนวันละ 1,800 บาท หากเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนก็จะลดต้นทุนการผลิตส่วนนี้ลงไป ทั้งนี้ แนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อจัดซื้อหรือเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ร่วมกันเพื่อลดต้นทุนอย่างยั่งยืน อีกแนวทางหนึ่งในการลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี คือการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เนื่องจากต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากใส่ปุ๋ยตามความต้องการของพันธุ์นั้น ๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกที่มันสำปะหลังมีความต้องการธาตุอาหารสูง ประกอบกับถ้าเกษตรกรมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ในไร่นาใช้ร่วมด้วยก็จะลดต้นทุนได้อีกครึ่งหนึ่ง
ควรกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกเพื่อไม่ให้แย่งอาหารมันสำปะหลัง ส่วนการเก็บเกี่ยวควรอยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ 10 เดือนขึ้นไป จะได้คุณภาพแป้งดี ปลูกรุ่นใหม่ได้ทันรอบปี แต่ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วก็จะส่งผลให้ผลผลิตลดลงและคุณภาพแป้งไม่ดี ส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายได้ นอกจากนี้ควรวางแผนการผลิตโดยประสานกับโรงงานรับซื้อ ว่าควรผลิตออกมาช่วงไหนจึงจะสอดคล้องกับความต้องการ หรือควรหลีกเลี่ยงช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อม ๆ กัน เพราะเกษตรกรมีโอกาสจะถูกกดราคามากที่สุดในช่วงดังกล่าว
นายกอบเกียรติ บอกเพิ่มเติมว่า การลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรไทย ที่กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัตินั้น ถ้าเกษตรกรนำไปดำเนินการน่าจะลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 15-20% และสิ่งที่ตามมาคือผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจที่ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับเกษตรกร โดยมันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2558-2569 เป้าหมาย คือ คงพื้นที่ 8.5 ล้านไร่เท่าเดิม แต่เน้นการเพิ่มผลผลิตขึ้นจากเฉลี่ย 3.5 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 7 ตัน/ไร่ ภายในปี 2569 ซึ่งปัจจุบันผลผลิตมันสำปะหลังเฉลี่ยทั้งประเทศ 29-30 ล้านตัน/ปี เมื่อสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 60 ล้านตัน ซึ่งจะเพียงพอต่อการนำไปใช้ทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน
สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจการพัฒนา การผลิตพืชที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579- 3930-3
ข้อมูลจาก : www.dailynews.co.th