(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต ไม่ใช้พื้นที่จริง)
ได้ใช้พื้นที่จำนวน 10 ไร่ ปลูกมะนาว พันธ์ุแป้นรำไพ ปลูกมาได้ 4 ปี ปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ซึ่งเป็นระยะแรกในการเก็บเกี่ยว ใน 1 สัปดาห์ เก็บได้ประมาณ 5,000 ลูก
นายสมโชค โกศล ผู้พลิกผันจากอาชีพอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนมาเป็นเกษตรกรเต็มขั้นที่ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในวันนี้
ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ ในอดีตส่วนหนึ่งเป็นป่าสงวนที่มีความเสื่อมโทรมเนื่องจากถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยจากประชาชน ต่อมาทางการได้เปิดให้ราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ในการทำมาหากินด้วยการปลูกพืชพร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเรียนรู้วิธีการปลูกพืชตามสภาพของภูมินิเวศน์ คือตามสภาพดิน ปริมาณน้ำ และความต้องการของตลาด โดยมีโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้
แต่สำหรับกรณีของนายสมโชค โกศล ในเรื่องของภูมิรู้นั้นคงไม่ต้องกล่าวถึงมากนัก เพราะมีความรู้ในฐานะเคยดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแก่เยาวชนมานานหลายปี แต่ที่น่าสนใจก็คือ การพลิกผันวิถีชีวิตจากผู้สอนมาเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะมีคำตอบหลายอย่างน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องการพลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่ได้รับการขนานนามว่าแหล่งเสื่อมโทรมจนมาปลูกพืชและให้ผลผลิตสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ที่คุณสมโชคบอกว่ามากกว่าการเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเสียอีก
เกษตรกรรายนี้ได้นำภูมิรู้ทางวิชาการที่ร่ำเรียนมา และถ่ายทอดให้แก่เยาวชนมาประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูกพืชหลายอย่างด้วยกันตั้งแต่ยางพารา พืชผักนานาชนิด และที่เป็นล่ำเป็นสันและสร้างรายได้อย่างดีก็คือ มะนาวพันธุ์แป้นอำไพ โดยปลูกแบบลงดินด้วยระบบน้ำหยด ไม่ใช้สารเคมีมาเป็นตัวช่วยในการเจริญเติบโตของต้นมะนาว และไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง หากแต่ใช้ปุ๋ยชีวภาพ และน้ำหมักอีเอ็มที่ผลิตขึ้นมาเองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดถึงพันธุ์ไม้สมุนไพรบางชนิดที่สามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้
“ได้ใช้พื้นที่จำนวน 10 ไร่ ปลูกมะนาว พันธ์ุแป้นรำไพ ปลูกมาได้ 4 ปี ปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ซึ่งเป็นระยะแรกในการเก็บเกี่ยว ใน 1 สัปดาห์ เก็บได้ประมาณ 5,000 ลูก มีผู้ซื้อมารับถึงแปลงปลูกในราคา ลูกขนาดใหญ่ 5 บาท ลูกขนาดกลาง 3 บาท และลูกขนาดเล็ก 2 บาท ก็มีรายได้จากมะนาวเฉลี่ย 150,000 บาทต่อเดือน 1 ปีก็จะมีรายได้ประมาณ 1,800,000 บาท” เกษตรกรผู้พลิกผันจากอาจารย์มาเป็นเกษตรกรวัย 59 ปีผู้นี้กล่าว
นายสมโชค เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า การปลูกมะนาวของตนนั้นจะใช้ระบบธรรมชาติดูแลธรรมชาติเป็นประการสำคัญ นับตั้งแต่การปรับปรุงดิน จากเดิมที่เป็นดินลูกรังปนหินให้มาเป็นดินที่มีธาตุอาหารพืชบริเวณหน้าดินเพิ่มขึ้น โดยการใช้มูลสัตว์ เศษหญ้ามาปรับปรุง ใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาเป็นตัวช่วยย่อยสลาย ไส้เดือนฝอยบริเวณหลุมปลูกและโดยรอบเพื่อเป็นตัวช่วยย่อยสลายดินตามธรรมชาติ เมื่อนำพันธุ์มะนาวลงปลูกก็ใช้ปุ๋ยชีวภาพมาบำรุงต้นที่ผลิตขึ้นมาเองเช่นกัน ตลอดจนน้ำยาป้องกันและปราบศัตรูพืชก็ผลิตขึ้นมาเองตามภูมิปัญญาไทยที่เคยใช้กันมาตั้งแต่อดีต ผสมผสานกับความรู้ในยุคปัจจุบันที่ได้รับมาจากโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เข้าส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชแบบชีวภาพปราศจากสารเคมี คือการใช้น้ำหมักชีวภาพจากเศษพืชผักหมักกากน้ำตาลผสมเหล้าขาว ยาเส้น ใบและผลสะเดา เมื่อได้น้ำหมักแล้วก็นำมาฉีดพ่นมะนาวในแปลงปลูก แมลงศัตรูก็จะไม่เข้ามาทำลาย มะนาวเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างเต็มที่
ใช้ระบบน้ำหยดจากถังน้ำที่สร้างขึ้นมาเพื่อเก็บกักไว้ ซึ่งเป็นน้ำที่ผันมาจากแหล่งน้ำของทางโครงการห้วยองคตฯ ที่เข้ามาจัดสร้างให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ในรอบ 1 ปี น้ำที่เก็บไว้จะเพียงพอกับการใช้บำรุงแปลงปลูก
สำหรับมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ นั้นเป็นมะนาวพันธุ์ลูกผสมระหว่างมะนาวพันธุ์แป้นทวายกับพันธุ์ต่างประเทศ สามารถผลิตมะนาวนอกฤดูได้ดี เพราะออกดอกติดผลง่าย อายุการเก็บเกี่ยวสั้นคือตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง ผลมีขนาดค่อนข้างโต ลักษณะผลกลมเป็นผลมีขนาดสม่ำเสมอ เปลือกผลบาง ปริมาณน้ำในผลมีมาก.“
อ่านต่อที่ : dailynews.co.th