การเกษตรในประเทศไทยต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน อย่างมันสำปะหลัง เกษตรกรต้องใช้เงินต้นทุนถึงไร่ละ 4,200-4,550 บาท เฉลี่ย กก.ละ 1.20-1.30 บาท ทำให้สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ต้องกำหนดแนวทางการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
นายกอบเกียรติ ไพศาลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชไร่ สำนักผู้เชี่ยวชาญกรมวิชาการเกษตร แนะแนวทางการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังว่า เบื้องต้นเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้โดยปลูกมันสำปะหลังตามเขตโซนนิ่งที่เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลัง จากนั้นเลือกใช้พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับเนื้อดินและสภาพแวดล้อมเฉพาะพื้นที่ อาทิ ดินทราย-ทรายปนร่วนควรใช้พันธุ์ระยอง72, ระยอง 7, ระยอง 9, ระยอง 90, ห้วยบง 60 และเกษตรศาสตร์ 50 ดินร่วนปนเหนียวควรใช้พันธุ์ระยอง 5, ระยอง 7, ห้วยบง 80 และระยอง 11 ดินด่างควรใช้พันธุ์ระยอง 11 และระยอง 5 จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
"เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพดี โดยใช้ต้นพันธุ์อายุ 8-12 เดือน ที่สดใหม่และตรงตามพันธุ์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม.ขึ้นไป หากปลูกต้นฤดูฝน ท่อนพันธุ์ควรมีความยาว 20 ซม.ฤดูแล้ง 25 ซม. ซึ่งจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงและแข่งขันกับวัชพืชได้ดี ที่สำคัญควรใช้พันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคและแมลง เช่น เพลี้ยแป้ง โรคหัวเน่า และโรคพุ่มแจ้ หากมีการระบาดของโรคหรือแมลง ควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูก จะสามารถลดการระบาด ช่วยลดต้นทุนการจัดการ และรักษาระดับผลผลิตที่อาจลดลงถึง 30%" นายกอบเกียรติ กล่าว
ส่วนฤดูปลูกนับว่ามีความสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งเกษตรกรสามารถปลูกได้ 2 ช่วง คือ ต้นฝน (เดือนมี.ค.-พ.ค.) และปลายฝน (เดือนก.ย.-พ.ย.) หากปลูกในช่วงต้นฤดูฝนควรยกร่องปลูกเพื่อช่วยระบายน้ำ ถ้าปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรจะให้ผลผลิตสูง ทั้งยังลดความเสี่ยงในการงอก ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาหัวมันเน่า และลดจำนวนครั้งในการกำจัดวัชพืชด้วย และเกษตรกรควรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานคนที่มีค่าจ้างแพงขึ้น
นอกจากนี้เกษตรกรควรเตรียมดินให้ถูกวิธีจะสามารถลดต้นทุนในการเตรียมดินได้ โดยไถดินอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งแรกไถลึกด้วยผาน 3 ตากดินแล้วพรวนด้วยผาน 7 อีกครั้ง กรณีพื้นลาดเทควรยกร่องขวางแนวลาดเอียง ไม่ควรไถเตรียมดินขณะที่ดินแฉะหรือแห้งมาก เกษตรกรต้องไถระเบิดดินดานทุก 3 หรือ 5 ปี ก่อนไถต้องตรวจวัดความแน่นดินตามเกณฑ์ สำหรับการปลูกมันสำปะหลังไม่ควรปลูกถี่เกินไป โดยปลูกในอัตรา 1,600-3,200 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 1x1 ถึง 0.6x0.8 เมตร ขึ้นกับพันธุ์ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความสะดวกในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะไม่สิ้นเปลืองแรงงานและท่อนพันธุ์ การระบาดของโรคและแมลงจะน้อยลง เพราะพุ่มใบจะชิดกันพอดี ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและลดการสูญเสียผลผลิตได้ หากปลูกชิดจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 28% และรายได้ลดลง 30%
ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชไร่ แนะนำอีกว่า การกำจัดวัชพืชถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะช่วงวิกฤติ 1-4 เดือนแรก โดยใช้แรงงานคนหรือสารไดยูรอน หรือเมโทลาคอร์พ่นหลังปลูกเสร็จเมื่อดินมีความชื้น และเมื่อวัชพืชงอกพ่นด้วยสารพาราควอท หรือไกลโฟเสทตามอัตราและคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก ขณะที่การใส่ปุ๋ยเกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือใช้ปุ๋ยร่วมกับวัสดุอินทรีย์ และควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงดินในอัตรา 0.5-1 ตันต่อไร่ เป็นต้น การเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยเกี่ยวกับแนวทางการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
จาก komchadluek.net