กองทัพอิตาลี ดำเนินโครงการเพาะปลูกกัญชา เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการนำเข้ากัญชาเพื่อรักษาโรคจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมการเก็บเกี่ยวผลผลิตเเล้ว
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลีได้อนุญาตให้ทางกองทัพจัดทำโครงการเพาะปลูกฟาร์มกัญชาขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อการผลิตยารักษาโรคภายในประเทศเเละลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการนำเข้ากัญชาเพื่อการเเพทย์จากต่างประเทศซึ่งมีห้องปฎิบัติการอยู่ภายในฐานทัพที่เมืองฟรอเรนซ์ เเละคาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตยาได้ถึงประมาณ 100 กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว
รายงานระบุว่า ในโรงงานยาของกองทัพมีความพร้อมในการผลิตยา โดยมีทั้งเครื่องอบแห้ง อุปกรณ์การบรรจุยาที่ครบครัน พร้อมด้วยการปลูกกัญชาในห้องควบคุมที่กำหนดอุณหภูมิให้เหมาะสมในการเจริญเติบโต
ด้าน นาย Roberta Pinotti รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิตาลี กล่าวว่า เหตุผลที่รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจให้กองทัพทำฟาร์มกัญชาเป็นของตัวเองก็เพราะว่าพวกเขามีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอสามารถรับประกันความปลอดภัยได้ เนื่องจากอยู่ในการเฝ้าระวังจากของกองทัพเองโดยตรง
โดยจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือ เพื่อผลิตยาเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากยาประเภทนี้ไม่สามารถหาซื้อได้ตามตลาดยาทั่วไป เเละกองทัพต้องการให้ผู้ใช้สามารถซื้อยาได้ในราคาที่ย่อมเยาว์
ปกติแล้ว กองทัพอิตาลีจะต้องนำเข้ากัญชามาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยราคาสูงกว่า 35 ยูโร หรือประมาณ 1,300 บาทต่อกรัม และยังขาดตลาดอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ทางกองทัพจึงมุ่งจะลดราคาให้ต่ำกว่า 15 ยูโรต่อกรัมให้ได้ หรือถ้าเป็นไปได้ก็จะลดให้เหลือเเค่ 5 ยูโรหรือประมาณ 188 บาทต่อกรัมเท่านั้น
ทั้งนี้ การใช้กัญชาทางการเเเพทย์ถือว่ามีประโยชน์ในการรักษาอาการสารพัดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการเจ็บปวดเรื้อรัง และเเม้ว่าเหล่าแพทย์ชาวอิตาลีจะสามารถใช้กัญชาในการรักษาได้อย่างถูกกฎหมาย เเต่ทว่า ราคายานั้นยังเเพงอยู่มากเเละค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการรัฐ เเละขณะนี้ ตามกฎหมายอิตาลีก็ยังไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปหรือบริษัทเอกชนเพาะปลูกกัญชาเองได้ การปลูกเเละการซื้อขายกัญชาในอิตาลีก็ยังผิดกฎหมายอยู่ดี
แม้ว่าโครงการเพาะปลูกกัญชาในฐานทัพนี้ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับรักษาเจ้าหน้าที่ในกองทัพเป็นหลัก แต่ก็สามารถนำไปใช้รักษาประชาชนทั่วไปได้ ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติรุนแรง ทำให้ขาดแคลนยารักษาโรคสำหรับพลเรือน เช่น ในกรณีการผลิตยาไอโอไดด์-โพเเทสเซียมกว่า 5 เเสนเม็ด หลังจากเกิดอุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด เมื่อปี 1996 เป็นต้น
จาก prachachat.net