การชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ มีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น
นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า เนื่องจากหญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย มีรากที่ยาว แผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผง และง่ายต่อการรักษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกให้หน่วยงานต่างๆ ทำการศึกษา ทดลอง และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเพื่อ ประโยชน์อื่นๆ กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับสนองพระราชดำริ โดยมีการรณรงค์การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำมาอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษา วิจัย และการแนะนำให้มีการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกทั้งทางด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรดิน และการรักษาสภาพแวดล้อมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา
การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ประกอบด้วย การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน เป็นการปลูกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ซึ่งรากหญ้าแฝกจะช่วยยึดเกาะป้องกันปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดีในช่วงฤดูฝนน้ำไหลบ่า การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ โดยมีรูปแบบการปลูกทั้งเป็นแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบลุ่ม หรือจะเป็นการปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำให้ติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดดินรอบขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ได้ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในด้านต่างๆ ให้เกษตรกรในพื้นที่ 6 จังหวัด ตัวอย่างที่มีการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกจนประสบความสำเร็จสามารถเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นได้ คือ พื้นที่ของนายวิระกาญจน์ พละเนียม เกษตรกรที่อยู่ในตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นบ่อกุ้งร้าง และได้เข้ามาร่วมโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยได้ปรับเปลี่ยนสภาพจากบ่อกุ้งร้างทำการยกร่องเป็นสวนปลูกมะพร้าว กล้วย มะละกอ ซึ่งก่อนหน้าที่จะปลูกหญ้าแฝกรอบร่องสวนนั้น เกิดปัญหาดินพังทลาย สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้เข้าไปส่งเสริมให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบแปลงยกร่อง โดยให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถว จำนวน 1 แถว ปลูกห่างจากริมขอบแปลง 20 เซนติเมตร ในพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่
ผลจากการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าเกษตรกรเจ้าของสวนให้ความใส่ใจและดูแลรักษาต้นหญ้าแฝกเป็นอย่างดี เนื่องจากเห็นประโยชน์ชัดเจนแล้วว่า แถวของหญ้าแฝก จะเป็นกำแพงที่มีชีวิต ป้องกันการพังทลายขอบริมร่องสวนได้ ช่วยทำให้ร่องน้ำไม่ตื้นเขิน จึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการลอกเลน นอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยปรับโครงสร้างดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน โดยการตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินและคลุมโคนต้นพืชที่ปลูก ส่งผลให้พืชที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทางสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้คัดเลือกให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงานและมีความประสงค์ที่จะปลูกหญ้าแฝกเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ มากขึ้นด้วย
หากเกษตรกรท่านใดต้องการนำหญ้าแฝกพืชมหัศจรรย์ไปใช้ประโยชน์ สามารถติดต่อขอรับกล้าพันธุ์หญ้าแฝกได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด
naewna.com