ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายนถึงพฤษภาคม สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหาดไก่ต้อย ต.หาดล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ต่างขะมักเขม้นกระเทาะเปลือกเมล็ด มะม่วงหิมพานต์ เพื่อแปรรูปเป็นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบแห้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของฝากที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงทำให้ผู้หญิงที่นี่ยอมมือไม่สวยไม่เป็นไรแต่ได้เงิน
การปลูกมะม่วงหิมพานต์ ครบวงจรใน อ.ท่าปลา
นายไพรัช อุสาหะ เกษตรอำเภอท่าปลา จ.อุตรดิตถ์กล่าวว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของ อ.ท่าปลาเป็นพื้นที่เขา ดินลูกรัง ซึ่งเหมาะสมกับ การปลูกมะม่วงหิมพานต์ เพราะเป็นพืชทนแล้งและให้ผลตอบแทนสูง ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 3,036 ราย ในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่และมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วถึง 10,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตทั้งหมดประมาณ 5,000 ตัน ซึ่งถ้ากระเทาะเมล็ดแล้วจะได้ประมาณ 1,000-1,300 ตัน(ผลผลิตทั้งเปลือก 5 กิโลกรัมเมื่อกะเทาะแล้วจะได้ เมล็ดมะม่วง 1.3 กิโลกรัม) จำหน่ายเมล็ดที่กระเทาะ กิโลกรัมละ 25-27 บาท รวมแล้วเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
การปลูกมะม่วงหิมพานต์ ใน อ.ท่าปลา เกษตรกรนิยมปลูกโดยการเพาะเมล็ดเพราะเป็นวิธีที่ง่ายสะดวกรวดเร็ว ได้ปริมาณต้นกล้าที่มากและแข็งแรง พันธุ์ที่นิยมปลูกคือพันธุ์ ศ.ก.60-1 และ ศ.ก.60-2 เพราะมีลักษณะลำต้นแข็งแรง ทนทานและให้ผลผลิตต่อต้นปริมาณมาก .ในการแปรรูป เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ นั้นจะมีส่วนที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เช่นเนื้อผลและเยื่อลอกทำเป็นปุ๋ยหมัก เปลือกหลังจากกระเทาะหรือกากนั้น จะจำหน่ายให้พ่อค้ากิโลกรัมละ 50 สตางค์ เพื่อขายส่งโรงงานสกัดเป็นน้ำมันเบรค
ขั้นตอนการเพาะ
นำเมล็ดพันธุ์ มะม่วงหิมพานต์ แช่ในน้ำเปล่า 1 คืนและเตรียมดิน แกลบ ผสมลงถุงดำ จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำกดลงในดินโดยคว่ำเมล็ดลงประมาณค่อนเมล็ด โดยดินไม่กลบเมล็ดจนมิด จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากเพาะ 7-10 วัน เมล็ดเริ่มงอกและใช้ระยะเวลาดูแลต้นให้เจริญเติบโตอีกประมาณ 2 เดือน จึงย้ายลงปลูกในแปลง
ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 6 เมตร ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 3-5 กิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดไว้กลบลงประมาณครึ่งหลุม แล้วนำต้นมะม่วงหิมพานต์ลงในหลุมให้โคนต้นอยู่เหนือปากหลุมเล็กน้อย ปักไม้กันโยกแล้วนำดินที่เหลือกลบหลุมให้แน่น
การดูแลรักษา มะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ หลังจากปลูกจนถึงอายุ 2 ปี ควรใส่ปุ๋ย 12-24-12 อัตราส่วน 300-800 กรัมต่อต้นต่อปี ในช่วงเดือนมิถุนายน , กันยายนและธันวาคม หลังจากปลูกอายุประมาณ 3 ปี ต้นมะม่วงหิมพานต์จะเริ่มออกดอกและจะออกเต็มที่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม หลังจากนั้นจะออกลดลงและเริ่มติดผลอ่อน สำหรับระยะเวลาตั้งแต่ออกดอก ออกผลและเมล็ด จนผลสุกแก่เต็มที่ประมาณ 60 วัน ผลสุกจะล่วงเองตามธรรมชาติ เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้ 3 รุ่น ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม
การแปรรูปเมล็ด มะม่วงหิมพานต์ ของบ้านหาดไก่ต้อย
คณวันทรา ผ่านคำประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหาดไก่ต้อย หมู่ที่ 3 ต.หาดล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์กล่าวว่าเมื่อปี 2543 สมาชิกกลุ่มแม่บ้านได้รวมตัวกันประมาณ 20 คน เพื่อสร้างอาชีพเสริมโดยแปรรูปผลผลิตมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยใช้มือกระเทาะ แต่ได้ปริมาณน้อยและช้า ต่อมาได้มีการพัฒนาการผลิตโดยใช้เครื่องกระเทาะเมล็ด ทำให้ผลิตได้ปริมาณที่มากขึ้นและรวดเร็ว จนปัจจุบันนี้ทางคุณวิภานันท์ สุขะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอท่าปลา ได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพมาตราฐานและการบรรจุภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบแห้งของหาดล้า เป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาดและผู้บริโภค จนเป็นสินค้าของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมทั้งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มเดือนละ 5,000-8,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 47 ราย มีรายได้ต่อเนื่องทั้งปีเพราะทางกลุ่มรับซื่อวัตถุดิบมาสต๊อกไว้จากเงินทุนหมุนเวียน 200,000 บาท สมาชิกรายใดที่มีเวลาว่างจากไร่นาก็จะรับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปทำการกระเทาะเปลือก โดยคิดรายได้กิโลกรัมละ 20 บาทและลอกเยื่อ กิโลกรัมละ 2 บาท ในแต่ละวันคนหนึ่งจะกะเทาะได้ประมาณ 10 กิโลกรัม มีรายได้ 200 บาทต่อวัน แต่การกะเทาะเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์นั้นบางคนมีอาการแพ้เป็นผื่นคันตกกระ แม่บ้านเกษตรกรทุกคนก็ยอมถึงมือไม่สวยไม่เป็นไรแต่ได้เงินตอบแทน จนสามารถส่งลูกเรียนจนจบปริญญา มีบ้านมีตู้เย็นมีโทรทัศน์ สำหรับผลิตภัณฑ์การแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ของกลุ่มสามารถผลิตและจำหน่ายปีละ 100 ตัน
ขั้นตอนการกระเทาะเมล็ด มะม่วงหิมพานต์
1. นำเมล็ด มะม่วงหิมพานต์ ที่แก่จัดที่หล่นลงกับพื้น มาตากแดดประมาณ 3-4 วัน แล้วนำเก็บไว้รอการกระเทาะ
2. นำเมล็ดที่ตากแห้งแช่น้ำแล้วไปต้มในน้ำเดื่อด ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ตักขึ้นทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดหดตัวแยกจากเปลือก ทำให้กระเทาะง่าย
3. นำเมล็ดที่ได้จากการต้มกระเทาะ โดยเครื่องกระเทาะเปลือก
4. นำเมล็ดที่กะเทาะเปลือกเข้าอบตู้แก๊ส 9-10 ชั่วโมง หรือตากด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ 3-4 วัน
5. เมล็ดที่อบแล้วจะมีสีชมพูและหลังจากนั้นนำไปลอกเยื่อหุ้มเมล็ดออก
6. นำไปอบตู้แก๊สอีกครั้ง ใช้เวลา 30 นาทีหรืออบพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เวลา 1 วัน
7. ทำการคัดแยกขนาดตามมาตรฐานแหล่งผลิตและบรรจุภัณฑ์ พร้อมจำหน่าย
ราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์การแปรรูปมะม่วงหิมพานต์
-ขายส่งกิโลกรัมละ 200 บาท
-ขายปลีกกิโลกรัมละ 250 บาท
ผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่คุณวันทรา ผ่านคำประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหาดไก่ต้อย หมู่ที่ 3 ต.หาดล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โทร.081-7863283
จาก ndoae.doae.go.th