เอ่ยชื่อ “สุวิทย์ ไตรโชค” คนในวงการเมล่อนน้อยคนที่จะไม่รู้จัก เพราะว่าเป็นเกษตรกรที่ได้ชื่อว่า “กินนอน” อยู่กับเมล่อนมานานร่วม 30 ปี
ผมเองก็คนหนึ่งละที่ได้เริ่มสนใจกับเมล่อน เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจอายุสั้นแต่ทำเงินเร็ว ยิ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้อะไรที่ได้เงินเร็วๆไม่มีใครไม่ชอบ พอได้ข่าวว่า คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร และศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจ สำนักบริการวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดสัมมนา “เมล่อนเงินล้าน สร้างรายได้ตลอดปี” โดยเชิญคุณสุวิทย์ ไตรโชค มาเป็นวิทยากรผมก็ไม่พลาดที่จะมาร่วมงานนี้ ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ดังเนื้อหาสาระบางส่วนที่ได้เรียบเรียงมา...
จากวิศวกรมาเป็นเกษตรกร
คุณสุวิทย์ เล่าให้ฟังว่า เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร มีอาชีพปลูกผักขายอยู่ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“ตอนเด็กๆที่บ้านทำนา เวลาเราขายข้าว พ่อค้าตั้งราคาให้ พอไปซื้อปุ๋ย เขาก็ตั้งราคาให้ เลยรู้สึกว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มคนที่แย่สุด ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร เบิกเงินอะไรก็ไม่ได้ไม่เหมือนข้าราชการ ก็เลยคิดว่าวันหนึ่งผมจะกลับมาพัฒนาเกษตร ทำให้เกษตรกรไทยมีฐานะดีขึ้นให้ได้ จึงพยายามสะสมเงินที่ได้จากงานประจำมาเป็นทุนทำการเกษตร” คุณสุวิทย์ เปิดเผยถึงความใฝ่ฝันในอาชีพที่หลายคนอาจเบือนหน้าหนี
พอโตขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้เรียนทางด้านการเกษตรเหมือนที่ใฝ่ฝัน คือเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และออกมาทำงานเป็นวิศวกร ล่าสุดก่อนพลิกผันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวเขาทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทการบินไทย แต่ก็ยอมทิ้งงานที่คนทั่วไปมองว่ามั่นคง ด้วยว่ามีเสียงเรียกร้องจากหัวใจ
“ผมมีความใฝ่ฝันในอาชีพเกษตรตลอดเวลา...ระหว่างที่ทำงานประจำก็เริ่มใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์มาปลูกผักกับพ่อแม่ ใช้หลักวิชาการสมัยใหม่ผสมผสาน แต่ก็ปลูกผักได้ไม่นานก็หันมาปลูกเมล่อน”
“เพื่อนวิศวกรที่การบินไทยถามว่าทำไมไม่ปลูกเมล่อนบ้าง ขณะนั้นเมล่อนเป็นของใหม่สำหรับเมืองไทย เหมือนเป็นผลไม้นอก และทราบว่ามีปลูกที่เชียงใหม่ก็ไปดู ตอนแรกคิดว่าจะชอบอากาศเย็น แต่เมื่อมาปลูกจริงก็รู้ว่าสามารถปลูกที่มีอากาศร้อนและที่บางไทรได้”
ในปี 2529 จึงเป็นปีแรกที่คุณสุวิทย์ หันมาปลูกเมล่อนอย่างจริงจัง แต่ทว่าในช่วง 5 ปีแรก ล้มลุกคลุกคลาน ขาดทุนต่อเนื่อง แต่เขาไม่เคยยอมแพ้
“ผมคิดว่าปลูกเมล่อนเป็นอาชีพที่ท้าทาย เป็นผลไม้ที่มีราคาดี จึงมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไปศึกษาระบบน้ำหยดที่ใช้ในแปลงพืชของอิสราเอล อ่านตำราด้านเกษตรและเข้าไปขอความรู้ทุกอย่างด้วยตนเองกับอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกรมวิชาการเกษตร กับกรมส่งเสริมการเกษตร เรียกว่าที่ใดเป็นแหล่งความรู้ได้ศึกษาหมด บวกกับความรู้ด้านวิศวกรรมที่ร่ำเรียนมา ก็ทำให้ประสบความสำเร็จในปีที่ 6 และสามารถทำกำไรจากที่เคยขาดทุนก็ถอนทุนคืนได้ในปีเดียว”
จนวันนี้ คุณสุวิทย์ ได้กลายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนที่มีชื่อเสียง ภายใต้แบรนด์สินค้า “ไทยเฟรช” และ “นาวิต้า” ที่วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ และยังมีผู้ส่งออกมารับซื้อเมล่อนไปขายในต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดเขาได้กลายเป็นต้นแบบและเป็นครูให้กับเกษตรกรที่สนใจปลูกเมล่อน และได้รับเลือกให้เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่นปี 2556
4 วิธีจัดการสู่ความสำเร็จ
การปลูกเมล่อนที่หลายคนบอกว่าเป็นพืชปราบเซียน เพราะกว่าจะสำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆนัก
“การผลิตเมล่อนให้มีคุณภาพดีสม่ำเสมอนั้น ความยากจะอยู่ที่การจัดการทั้งด้านสายพันธุ์ การเตรียมดิน การจัดการน้ำและปุ๋ย รวมทั้งเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช หากเราจัดการในเรื่องเหล่านี้ได้ก็จะประสบความสำเร็จ” คุณสุวิทย์ เปิดเผย
ขอยกตัวอย่างในเรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์เมล่อน คุณสุวิทย์ เล่าให้ฟังว่าในแต่ละปีต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ มาปลูกเพื่อทดสอบสายพันธุ์ นับ 100 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ราคาแพง และต้องอดทนมากกว่าจะซื้อได้ แต่เพื่อหาสายพันธุ์ที่ดีที่เหมาะสมก็ต้องยอม บางครั้งปลูกทดสอบนานถึง 5 ปี อาจจะได้สายพันธุ์ที่ดีเพียงสายพันธุ์เดียว แต่ก็คุ้ม เพราะ 1 สายพันธุ์ ใช้ประโยชน์ได้นานนับ 10 ปี
“เราต้องเลือกพันธุ์ที่ดีก่อน เพราะว่าถ้าสายพันธุ์ไม่ดีต่อให้ใส่ปุ๋ยเพิ่มความหวานขนาดไหนก็ไม่หวาน แต่กลับกันหากพันธุ์ดี เราบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงดีแล้ว เราใส่ปุ๋ยอะไรก็หวาน”
เรื่องที่สอง การเตรียมดินก่อนปลูก
“การเตรียมแปลงปลูกเมล่อนจะต้องใช้รถไถนามาช่วย ทำการยกร่องให้สูงและมีทางระบายน้ำ เพราะที่อยุธยาน้ำท่วมบ่อย แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่เราต้องพบอยู่แล้ว สิ่งสำคัญเราต้องตรวจวัดความเป็นกรดเป็นด่าง ของดินว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีธาตุอาหารอะไรบ้าง โดยค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมต่อการปลูกเมล่อน คือ 5.5-6.5 ซึ่งดินที่อยุธยาส่วนใหญ่จะมีค่าความเป็นกรด ที่ 4.5-5 ก็ต้องปรับสภาพดิน โดยใช้ ปูนขาวมาโรยผสมก็จะช่วยได้”
เรื่องที่สาม การจัดการเรื่องระบบน้ำและปุ๋ย คุณสุวิทย์ มีหลักคิดว่าน้ำและปุ๋ยจะต้องเข้าไปถึงเมล่อนทุกต้นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าต้นไหนอยู่ใกล้ถังน้ำก็ได้รับมาก ต้นไหนอยู่ไกลก็ได้รับน้อย
“เมื่อเตรียมแปลงปลูกเสร็จ ก็ต้องวางระบบน้ำหยด โดย 1 แปลง จะวางสายน้ำหยด 3 เส้น และการวางระบบน้ำยังจะนำมาใช้ในเรื่องของการให้ปุ๋ย ซึ่งการให้ปุ๋ยทางน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการปลูกเมล่อนให้ได้คุณภาพ เมื่อวางระบบน้ำเสร็จก็สามารถปูพลาสติกคลุมแปลงได้”
คุณสุวิทย์ บอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องระบบน้ำและให้ปุ๋ยทางน้ำ อย่างเช่นเห็นที่สวนไหนนั่งเอาเข็มแหย่รูระบบน้ำหยด เพราะปัญหาหารูตัน นั่นแสดงว่าเลือกใช้ปุ๋ยไม่ถูกว่าเป็นตัวไหน หากใช้ปุ๋ยผิดจะทำให้ท่อหรือรูน้ำหยดตันได้
เรื่องที่สี่ คือการจัดการโรคและแมงศัตรูพืช หลายคนเข้าใจว่าการปลูกเมล่อนในโรงเรือนจะสามารถป้องกันปัญหานี้ได้ แต่จริงๆแล้วระบบโรงเรืองแค่ทำให้โรคและแมลงลดน้อยลงบ้างเท่านั้น
“แปลงปลูกของผมไม่ได้ปลูกเมล่อนในโรงเรือน ตอนแรกก็คิดจะปลูกในโรงเรือนเหมือนกัน แต่พอปลูกไปก็เห็นว่าเราบริหารจัดการได้ ซึ่งข้อดีคือทำให้ผลเมล่อนได้รับแสงแดดเต็มๆทำให้มีความหวานมากกว่า แต่ข้อเสียคือเราอาจมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมของอากาศ อย่างช่วงฤดูฝน ถ้าเมล่อนถูกน้ำฝนบ่อย มักจะเกิดโรคราน้ำค้างระบาดตามมา”
ปัญหาของโรคและแมลงที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งคือ เพลี้ยไฟ จะเกิดเสียหายได้ทั้งแปลงหากไม่รีบป้องกันอย่างทันท่วงที เช่นเดียวกับแมลงหวี่ขาวจะนำพาเชื้อไวรัสต่างๆ พวกราน้ำค้าง ราแป้ง ฯลฯ ส่วนเชื้อแบคทีเรียก็พบบ้างแต่ไม่รุนแรง เช่นเดียวกับหนอนต่างๆ
“เราต้องศึกษาว่าโรคแต่ละชนิดมีลักษณะอาการอย่างไร เช่นเชื้อราจะใช้สารกำจัดเชื้อราตัวไหนฉีดดี ฉีดทุกๆกี่วัน และฉีดช่วงเวลาไหนดีที่สุด หรืออย่างแมลงบางชนิดเราก็ต้องรู้ว่าเวลาไหนเขาอยู่ตรงไหน เช่นอยู่ในกลีบดอก สภาพแวดล้อมที่เขาชอบเป็นอย่างไร หรือยาฉีดเชื้อราจะสลายตัวเร็วมากเมื่อถูกความร้อนของแสงแดด ควรฉีดช่วงเวลาเย็น แสงแดดอ่อนแล้ว และใบเมล่อนจะต้องไม่เปียกน้ำ เพราะยาที่ฉีดไป พอเจอน้ำจะทำให้เจือจางได้”
นอกจากนี้ การเลือกสายพันธุ์ที่ดี ก็ช่วยได้ เพราะบางสายพันธุ์มีความทนต่อโรคและแมลงบางชนิด เช่นเดียวกับการเตรียมแปลงที่ดี รวมทั้งระบบน้ำและปุ๋ยที่ถูกต้องก็จะทำให้พืชมีความแข็งแรงเติบโตได้ดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่โรคและแมลงจะเข้าทำลายในช่วงที่ต้นพืชยังมีใบอ่อน แต่เมื่อต้นมีความแข็งแรงดีแล้วก็ทำลายได้ยาก
การจัดการเรื่องคนงานก็สำคัญ
ในการปลูกเมล่อนหลายคนคิดว่าแค่มีเงินทุนจ้างคนงานก็พอแล้ว แต่สำหรับคุณสุวิทย์แล้วเขาบอกว่า เราต้องอยู่กินกับเมล่อน “อยากสบายก็ไม่ควรปลูกเมล่อน” และ “ปลูกเมล่อนต้องดูแล 24 ชั่วโมง” ซึ่งในความหมายก็คือว่า แต่ละวันมีปัญหาให้จัดการมากมาย และแต่ละปัญหาไม่ใช่ว่าจะมอบหมายให้ใครได้ง่ายๆ อย่างเช่นตัวเขาเองกว่าที่จะให้คุณแม่ยอมรับได้ว่า “เมล่อน 1 ต้น ให้ไว้ลูกแค่ 1 ลูก” ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี (ตรงนี้คุณสุวิทย์ แย้มๆมาว่า กำลังจะทำเมล่อน 1 ต้น ไว้ 5 ผล ก็คิดว่าคงถูกใจคุณแม่แน่ๆ)
หรืออย่างคนงานที่ให้เข้ามาดูแลในเรื่องต่างๆก็เช่นกัน “คนงานเขาเสียดาย เขาบอกว่าอยากให้เจ้านายได้ผลผลิตเยอะๆ จึงไว้ต้นละ 2 ลูก เหมือนเขาหวังดีกับเราในหลายเรื่อง แต่จริงๆแล้วมันทำอย่างนั้นไม่ได้ ผลผลิตออกมาจะไม่ได้คุณภาพ”
สรุปว่า การเทรนนิ่ง หรือถ่ายทอดความรู้ให้กับคนงานเป็นสิ่งสำคัญมาก “เราต้องเป็นครูที่ดี สอนเขาให้เข้าใจ และทำได้ดีด้วย”
เรียนรู้ขั้นตอนการปลูกเมล่อน
เริ่มต้นจากการเพาะกล้า โดยนำเมล็ดเมล่อนมาแช่ในน้ำอุ่น 6-8 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการนี้เป็นภูมิปัญญาที่ได้มาจากคุณแม่ (จินตนา ไตรโชค) จากนั้นให้เรียงเมล็ดในถาดเพาะกล้า จะต้องวางในแนวนอน ซึ่งจะทำให้เมล็ดมีการงอกที่ดี ต้นตรงสวย เมื่ออายุกล้าได้ประมาณ 10 วัน ก็ย้ายไปลงแปลงปลูกได้ (ถ้าช่วงอากาศหนาวเย็นที่พืชโตช้าอาจใช้เวลาถึง 15 วัน)
ระยะการปลูกและระยะห่างต่อต้น จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และฤดูกาลปลูก โดยเฉลี่ย 1 ไร่ จะปลูกได้ ประมาณ 2,500 ต้น
ส่วนการให้ปุ๋ยเมล่อนมี 2 แบบ คือให้ปุ๋ยทางดิน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-13 เป็นปุ๋ยรองพื้นก่อน และก่อนการเก็บเกี่ยว จะเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ส่วนการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำนั้น หลังจากย้ายต้นกล้าลงลงแปลงปลูกได้ 4-5 วัน ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยด โดยจะเป็นปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ มีทั้งหมด 3 สูตร คือ ในช่วงระยะแรกที่ต้องเลี้ยงต้น สร้างใบ จะใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-13 ในอัตรา 0.2 กรัม ต่อต้น ทุกวันเว้นวัน และเพิ่มเป็น 0.3, 0.4, 0.5, 0.6 กรัม ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอช่วงที่เมล่อนเริ่มสร้างเนื้อ ขยายผล จะเป็นช่วงที่ต้องการปุ๋ยมากที่สุด ก็จะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตร 12-6-18 ให้ 1 กรัมต่อต้น และเมื่อผลเมล่อนเติบโตเต็มที่ก็จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูงเพื่อเพิ่มความหวาน คือสูตร 16-8-23 โดยจะลดปริมาตรปุ๋ยลงเหลือ 0.5 กรัม ต่อต้น
“ในการให้ปุ๋ยนั้นเราต้องรู้ว่าเมล่อนแต่ละช่วงอายุต้องการธาตุอาหารชนิดไหน ปริมาณเท่าไร หากเราไม่รู้จะทำให้มีต้นทุนที่สูง และผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพพอหรือคุณภาพไม่สม่ำเสมอ”
พร้อมแบ่งปันความรู้
จากการที่ประสบความสำเร็จในการปลูกเมล่อน ทำให้ชื่อเสียงคุณสุวิทย์ กระจายสู่วงกว้าง สื่อต่างๆได้มีการลงเรื่องราวมากมาย จนเป็นเหตุให้เกิดเครือข่ายผู้สนใจปลูกเมล่อนทั่วประเทศ
“ในช่วงระยะเวลา 20 กว่าปีมานี้ ผมได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจมากมาย ใครมาถามอะไรก็ตอบได้หมด แต่กลับเป็นว่าหลายคนที่ผมสอนไปก็มาทำขายแข่งกับผมในลักษณะไปเสนอขายให้ผู้รับซื้อรายเดียวกัน และมาตัดราคากันด้วย ผมก็เลยคิดว่าต่อไปนี้ใครจะมาขอเรียนรู้ก็ต้องสมัครเสียค่าเรียนกันละ เพราะศิษย์รุ่นพี่ทำเสียไว้ ผลก็เลยมาตกกับศิษย์รุ่นหลัง” คุณสุวิทย์ เล่าให้ฟังอย่างอารมภ์ดี
หลักสูตรการเรียนรู้เมล่อน จะเปิดให้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ กำหนดเวลาเรียน 6 เดือน เสียค่าเรียนคนละ 30,000 บาท
“เราเรียนรู้กันจนปลูกขายได้ ...จริงๆทฤษฎีเรียนวันเดียวก็จบแล้ว แต่ที่ต้องเรียนกันนานก็ภาคปฏิบัติ คุณจะต้องรู้จริง รู้ทุกเรื่อง จบออกไปทำเป็นอาชีพได้ และมั่นใจว่าแต่ละคนที่ทำจริงสามารถสร้างเงินล้านจากการปลูกเมล่อนได้ทุกคน”
นอกจากลูกศิษย์ที่เป็นคนไทย ยังมีลูกศิษย์ที่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในอาเซียนด้วยกัน อย่างเมื่อเร็วๆนี้ได้สอนคนสิงคโปร์ และอีกไม่กี่วันก็จะสอนคนเวียดนาม
“ถ้าเป็นคนต่างชาติผมคิดค่าเรียนชั่วโมงละ 10,000 บาท ซึ่งชาวต่างชาติที่เขามาเรียน เขาแค่มาสอบถามความรู้หรือเคล็ดลับเฉพาะเรื่อง เขาจึงไม่ต้องเรียนนาน”
มุ่งมั่นผลิตเมล่อนลูกละ 10,000 บาท
ปัจจุบัน คุณสุวิทย์ ปลูกเมล่อน ประมาณ 10 สายพันธุ์ แต่ที่เป็นสายพันธุ์หลักๆ เช่น จิงหยวน (ชื่อจีนแต่เป็นพันธุ์ญี่ปุ่น) แตงโอนิชิ ร็อคกี้ เมล่อน (มีเนื้อสีเขียวและเนื้อสีส้ม) ซากุระ เมล่อน (มีเนื้อสีส้มและสีเขียว) ฯลฯ
“เมล่อนมีความหลากหลายมาก มีคุณลักษณะพิเศษ มีลูกเล่นเยอะ บางสายพันธุ์หวานมาก หอมมาก บางสายพันธุ์เนื้อกรอบมาก บางสายพันธุ์เนื้อร่วน เรียกว่าละลายในปาก จึงมีความท้าทายให้ผู้ปลูกเป็นอย่างมาก”
ที่ผ่านมานั้นคุณสุวิทย์ ได้ทำการผลิตเมล่อนหลายสายพันธุ์ที่สามารถทำราคาได้สูง เช่น พันธุ์ซากุระ ขายได้ลูกละ 2,000 บาท เพิ่งทำขายเป็นปีแรก และประสบความสำเร็จด้วยดี “เป็นผลไม้ที่คนซื้อไม่ได้กิน และคนกินไม่ได้ซื้อ” จึงเกิดความคิดว่าจะต้องผลิตเมล่อนสายพันธุ์ดีอีก 2 สายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้กำลังทดลองพัฒนาสายพันธุ์ และยังไม่ได้ตั้งชื่อ ซึ่งต้องรอให้สำเร็จก่อนจึงจะตั้งชื่อ แต่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าวันใดที่ทำสำเร็จแล้วจะขายลูกละ 5,000 บาท และอีกสายพันธุ์จะขายลูกละ 10,000 บาท
“วันนี้ยังทำไม่สำเร็จ แต่อีก 2-3 ปี คิดว่าจะทำได้สำเร็จ และเมื่อถึงวันนั้นผมคิดว่าจะทำให้วงการปลูกเมล่อนประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก เทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นที่เขาทำได้”
ในการผลิตเมล่อนทั้ง 2 สายพันธุ์ดังกล่าว คุณสุวิทย์มีโครงการจะปลูกในระบบโรงเรือนที่มีมาตรฐานทันสมัย โดยเลือกพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีอากาศเย็นเป็นสถานที่ปลูกเมล่อนที่คิดว่าน่าจะมีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย
“ผมคิดว่าประเทศไทยของเรามีดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกพืช และทำการเกษตรมาก ไม่มีใครมาสู้เราได้ อย่างเรื่องการปลูกเมล่อนในกลุ่มประเทศอาเซียนเรานำหน้ากว่าใคร และระดับโลกเราก็ต้องทำได้ นี่ขนาดว่าเรายังไม่พัฒนาถึงขีดสุดเราทำได้ระดับนี้ วันใดที่เราพัฒนาหรือทำเกษตรอย่างจริงจัง เราสู้เขาได้แน่นอน” คุณสุวิทย์ กล่าวในที่สุด
ได้ฟังคุณสุวิทย์ พูดจบ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผู้นำแห่งวงการปลูกเมล่อนตัวจริง เสียงจริง เรียกว่าทุกลมหายใจเข้าออกเป็นเมล่อนก็ว่าได้ เพราะว่าลงจากเวทีปุ๊บ พี่แกบอกว่าผมจะขอตัวไปช่วยลูกสาวขายเมล่อนที่หน้าห้องประชุมก่อน...ทั้งๆที่บอกว่าเขาไม่เก่งเรื่องการตลาด ใช้หลักการตลาดโดยผลิตสินค้าคุณภาพให้คนบอกต่อ แต่ขอโทษทีครับ พี่ท่านใช้เวลาขายเมล่อนแค่ไม่กี่นาทีก็หมดเกลี้ยง ทั้งที่ขายลูกละ 300 และ 500 บาท...ต้องขอแสดงความนับถือจริงๆ
คุณรู้หรือไม่ว่าผลไม้ 5 อันดับที่แพงที่สุดมีอะไรบ้าง?
1.องุ่นพวงละ 175,000 บาท
2.มะม่วงลูกละ 95,578 บาท
3.แตงโมลูกละเกือบ 200,000 บาท
4.เมล่อนยูบาริ ลูกละ 507,601 บาท
5.สับปะรดลูกละกว่า 500,000 บาท
สำหรับผลไม้ราคาแพง 5 ชนิดนี้ มีอยู่ถึง 4 ชนิดที่เป็นผลไม้ของญี่ปุ่น มีเพียงสับปะรดเท่านั้นที่เป็น ผลไม้จากแคว้นคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ
อาจมีใครนึกสงสัยว่า ทำไม ญี่ปุ่นถึงมีผลไม้ราคาแพงมากมายขนาดนี้
ก็ขอให้พลิกไปหาคำตอบได้จาก http://www.sentangsedtee.com/news_detail.php?rich_id=1244§ion=1
แต่ก็อยากจะบอกเสียหน่อยว่า ผลไม้ทั้ง 5 ชนิดนี้เขามีลักษณะพิเศษ เรียกว่ามีจุดขายหลายอย่าง เช่น รสชาติ ความสวยงาม สถานที่ปลูก ความยากง่ายในการผลิต รวมทั้งการสร้างทัศนะคติและความเชื่อมั่นต่างๆ
หันมาดูบ้านเราบ้าง ทุเรียนเมืองนนท์ เคยขายกันถึงลูกละ 10,000 บาทก็มีมาแล้ว ฉะนั้นที่คุณสุวิทย์ ไตรโชค บอกว่าจะผลิตเมล่อนขายลูกละ 10,000 บาท ก็ดูว่าไม่ไกลเกินความจริง
ใครที่เคยคิดว่า เป็นเกษตรกร ไม่รวย ก็คงต้องคิดกันใหม่แล้วครับ
ขอขอบคุณ : สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และหากผู้อ่านต้องการติดต่อคุณสุวิทย์ ไตรโชค
จาก kasetkaoklai.com