"ปิติพงศ์"ชง คสช. ใช้ม.44 แก้ปัญหาอียูให้ใบเหลืองประมงไทย เหตุรอกฎหมายบังคับใช้ หรือการปรับขั้นตอนต่างๆ อาจไม่ทันการณ์ที่อียูจะมาตรวจความคืบหน้าในเดือนพ.ค.นี้ "ประวิตร"ย้ำยังไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 เหตุนายกฯ มีอำนาจเต็มสั่งจัดการปัญหานี้ได้ ผบ.ทร.เดินหน้าตรวจตราการใช้แรงงานเถื่อน ลั่นเจอจับทันที ปัดที่โดนไม่เกี่ยวกับการเมือง "พาณิชย์"สั่งทูตการค้าเร่งชี้แจงผู้นำเข้า หวั่นเกิดผลกระทบเชิงจิตวิทยา
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.กษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศให้ใบเหลืองไทยเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม ตามระเบียบ IUU Fishing ว่า จากนี้ไปไทยมีระยะเวลา 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาตามข้อสังเกตของอียู และต้องทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการประมง โดยเมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข อียูจะให้ใบแดง และตอนนั้นจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลไปอียูประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท
"ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาว่าจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรอประกาศใช้ โดยจะเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการควบคุมการทำประมง การควบคุมเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพื่อให้ทันก่อนที่คณะกรรมการอียูจะมาตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ไขในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้"นายปิติพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ การแก้ไขพ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 กำลังอยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน หลังจากวันประกาศ โดยจะมีผลให้การทำประมงต้องมีการควบคุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเรือ การทำระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียม การตั้งศูนย์ควบคุมการทำประมง การขออนุญาตทำประมง การจ้างงานลูกเรือ การแจ้งแหล่งทำประมง เพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เพื่อป้องกันการการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งทำแผนปฏิบัติการการประมงระดับชาติปี 2558-2562 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณา และเมื่อการดำเนินการครบสมบูรณ์แล้ว ไทยน่าจะถูกปลดจากใบเหลืองอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ที่โดนใบเหลืองมา 11 เดือน ส่วนเกาหลี ขณะนี้โดนใบเหลือง 1 ปี เมื่อแก้ปัญหาได้ก็ถูกปลดใบเหลือง
***"ประวิตร"ยันยังไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 นายกรัฐมนตรีมีอำนาจอยู่แล้ว ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว ไม่อยากพูดซ้ำ ตนจะคุยกับนายกรัฐมนตรีในการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจไปชี้แจงในเรื่องของการประมงของประเทศไทยว่าได้ดำเนินการอย่างไร แก้ไขอย่างไร ตั้งแต่เป็นรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถออกคำสั่งได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44
***กองทัพเรือเดินหน้าตรวจแรงงานเถื่อน
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า ปัญหาตรงนี้ผู้ประกอบการเรือประมง ต้องเข้ามาคุยกับภาครัฐ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากจะเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยในส่วนของกองทัพเรือ จะใช้กำลังพลตามปกติในการตรวจตราดูแลบริเวณน่านทะเลไทย และได้กำชับเรือที่ออกลาดตะเวนให้เข้าไปตรวจสอบลูกเรือประมงว่าเป็นแรงงานเถื่อนหรือไม่ ซึ่งกองทัพเรือได้ประชาสัมพันธ์แบบหลายภาษา ทั้งภาษาพม่า และภาษากัมพูชา เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้แรงงานเข้าใจ และรับทราบว่าได้รับเงินค่าจ้างแรงงานเต็มที่หรือไม่ เป็นการถูกบังคับมาใช้แรงงานหรือไม่
"หากเจอเหตุการณ์ดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะจับกุมทันที เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยเชื่อว่าในตอนนี้คงไม่มีแล้ว และเราจะนำสิ่งนี้ไปตอบกับอียูว่าไทยได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำความผิด ก็จะส่งดำเนินคดีทันที"
***ยันใบเหลืองไม่เกี่ยวกับการเมือง
เมื่อถามว่า ทางศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้มีการสะท้อนปัญหาหลักๆ ในการทำประมงและการลักลอบแรงงานผิดกฎหมายบ้างหรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า ศรชล. เป็นองค์กรใหญ่ของเรื่องเศรษฐกิจของทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เรากำลังรอกฎหมายเพื่อรองรับให้เป็นองค์กรที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องงบประมาณ โดยภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านประมงเข้ามาร่วมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่กองทัพเรือ โดยทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นหัวหน้า
ส่วนกฎหมายประมง ก็ได้แก้ไขแล้ว โดยมีการเพิ่มโทษในพ.ร.บ.ประมง ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. โดยจากเดิมจะปรับผู้ประกอบการประมงผิดกฎหมายเพียงไม่กี่ล้านบาท แต่กฎหมายใหม่ มีโทษสูงสุดปรับ 30 ล้านบาท ขณะนี้รอการประกาศออกมา ซึ่งอียูคงพิจารณาจากกฎหมายเก่า ซึ่งจะนำสิ่งที่แก้ไขไปแจ้งให้ทราบต่อไป
เมื่อถามว่าได้มองว่า การที่อียูให้ใบเหลืองครั้งนี้เกี่ยวกับปัญหาการเมืองหรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า คิดว่าไม่ เพราะเราได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานแล้ว และทางอียูก็แจ้งเรามาก่อนหน้านั้นว่าจะให้ใบเหลือง เพียงแต่ว่าการปฏิบัติของเราอาจจะไม่รวดเร็วพอ อย่างไรก็ตาม เราต้องไปศึกษาดูว่าประเทศที่ผ่านหรือถูกยกเลิกใบเหลืองไปแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เราจะต้องดูว่าเขาทำอย่างไร เพื่อหาแนวทางในการตอบโจทย์อียูให้ได้ทั้งหมด พร้อมกับทำเป็นรูปธรรมให้เห็น
***รัฐบาลมอบกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งแก้
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการหารือและมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าประเด็นหลักที่อียูต้องการแก้ไขว่ามีส่วนใดบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร โดยเชื่อว่าระยะเวลา 6 เดือน จะสามารถปรับได้ดีขึ้น และจะมีการพิจารณาติดตามการดำเนินการเป็นรายเดือนต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการประกาศให้เรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ มี พ.ร.บ.การปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ออกมาแล้ว และหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทำงานอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การประกาศดังกล่าวเป็นคนละเรื่อง และไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมา อียูก็มีการประกาศใบเหลืองให้มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ขณะที่การเสนอคำสั่ง คสช.ตามอำนาจมาตรา 44 นั้น ตนไม่ทราบว่าจะนำไปใช้ในส่วนใด แต่มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ และส่งผลกระทบสูง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น มาตรการใดที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี รัฐบาลก็ต้องใช้ทุกมาตรการ เพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ต้องใช้กฎหมายปกติก่อนและพิจารณาความจำเป็นต่อไป
***"อภิรดี"สั่งทูตพาณิชย์แจงคู่ค้า
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการระงับนำเข้าสินค้าประมงจากไทย เนื่องจากอียูให้ระยะเวลา 6 เดือน ในการแก้ไขปัญหาประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในระหว่างนี้ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาประมง ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกู้ภาพลักษณ์สินค้าประมงของไทยให้ผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ ได้เข้าใจว่าไทยได้พยายามในการผลักดันเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงอย่างเต็มที่
"ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสถานการณ์ประมงในไทย โดยยกเป็นวาระแห่งชาติ มีการแก้ไขพ.ร.บ.ประมง ที่จะมีการเพิ่มเติมในเรื่องของบทลงโทษ ซึ่งขณะนี้ได้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจาก สนช. แล้ว เหลือเพียงรอการบังคับใช้ รวมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาที่อียูได้ท้วงติงมา ทั้งการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง การขึ้นทะเบียนแรงงาน การทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้เสร็จภายใน 6 เดือน และจากนั้นมั่นใจว่าอียูจะปลดใบเหลืองไทย"
ทั้งนี้ การจัดทำมาตรการรับมือกรณีการส่งออกสินค้าประมงได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมที่จะผลักดันการส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาดใหม่ นอกเหนือจากตลาดอียู โดยจะขยายตลาดไปยังตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และกลุ่ม CLMV ซึ่งในวันที่ 24 เม.ย.นี้ จะมีการหารือกลุ่มทำงาน 10 กลุ่ม โดยจะมีการหารือถึงแนวทางในการรับมือในเรื่องนี้ด้วย
***สั่งศึกษาวิธีเกาหลี-ปินส์ปลดใบเหลือง
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาการแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวจากเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร จนสามารถเปลี่ยนใบเหลืองเป็นใบเขียวได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานที่มีความสุ่มเสี่ยงในการค้ามนุษย์ ได้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อดูแลแล้ว
จาก manager.co.th