ความมั่นใจในการแก้ปัญหาประมงไทย นาย ปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า การจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์เพื่อให้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ประมงไทย อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ขอให้มองว่าจะกลายเป็นการกระทำสีเทา การที่สหภาพยุโรป ให้ใบเหลืองไทยนั้น คิดว่า คงไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองหรือการตั้งใจกีดกันสินค้า แต่เนื่องจากในระยะหลังยุโรปมีอัตราการเติบโตของนวัตกรรมอาหารสีเขียวกว่าปีละร้อยละ 30 เพื่อมุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การส่งสินค้าเข้าไปขายมีการตรวจสอบต่างๆมากขึ้น
การที่อียูมีมาตรการต่างๆมากขึ้นเป็นส่วนหนึ่งจากปัจจุบันที่ไม่มีวิธีเก็บภาษี ประเทศต่างๆจึงมีมาตรการสิ่งแวดล้อมหรือด้านอื่นๆมาบังคับใช้แทนภาษีมากขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจ จากนี้จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่อียูให้เข้มข้นขึ้น ส่วนแนวทาง แก้ไขปัญหา ดำเนินการไปกว่าร้อยละ 50 แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและชาวประมง โดยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจและให้ความรู้ถูกต้อง รวมทั้งในวันศุกร์นี้จะมีการประชุมกับภาคเอกชน และจะมีการเสนอรายงานแผนปฎิบัติการระดับชาติต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาว่าด้วยการกระทำประมงผิดกฎหมายไม่รายงานและไร้การควบคุมหรือไอยูยู ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยสิ่งที่ เป็นปัญหามากที่สุดคือกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายล้าหลังและไม่มีการปรับปรุงมาตั้งแต่พ.ศ. 2490
สำหรับกรณีที่เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ที่ได้ใบเหลืองเช่นกันและถูกเพิกถอนแล้วนั้น นาย จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง ก็เปิดเผยว่า ทั้งสองประเทศได้ใบเหลืองก่อนไทยและมีการแก้ไขปัญหานานร่วมเกือบสองปีก่อนที่จะได้รับใบเขียวที่สามารถส่งสินค้าเข้าอียูได้ และเชื่อว่าไทยจะแก้ปัญหาได้เช่นกัน ทั้งนี้ระบุด้วยว่าอียูเริ่มมีมาตรการเข้มข้นในด้านไอยูยูมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังไม่ได้ควบคุมชัดเจนก่อนที่ไทยจะถูกตรวจและได้รับใบเหลืองในที่สุด
ส่วนการทำงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือนนี้ก็สามารถจับกุมผู้ที่ทำผิดกฎหมายด้านประมงไปแล้วกว่า 225 คดี
จาก js100.com