แม้ว่าในปัจจุบันเครื่องปลูกมันสำปะหลังจะมีการใช้งานกันแพร่หลาย แต่เนื่องจากขั้นตอนการเก็บเกี่ยวต่างๆ หลังจากการขุดแล้ว ยังต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ส่วน ของรูปแบบการเก็บเกี่ยว ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรกรรมลดลงเรื่อยๆ และค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น จึงมิใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะหาแรงงานชั่วคราว วันละ 10-12 คน เพื่อเก็บหัวมันที่ขุดขึ้นมา ซึ่งอุปสรรคส่วนนี้ส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานเครื่องขุดมันสำปะหลังในแต่ละวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้น สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเครื่องขุดเก็บมันสำปะหลังแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง ตลอดจนการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในระบบการเก็บเกี่ยว
คุณประสาท แสงพันธุ์ตา วิศวกรการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัย เล่าว่า เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง อายุระหว่าง 8-14 เดือน แต่โดยส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวอายุระหว่าง 10-12 เดือน แต่ก็มีเกษตรกรมีการแบ่งพื้นที่ และจัดระบบการปลูกให้เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ที่อายุ 14 เดือน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตมากขึ้น โดยที่เปอร์เซ็นต์แป้งไม่ลดลงและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเตรียมดิน ค่าท่อนพันธุ์ ค่าจ้างปลูก
คุณประสาท เล่าต่อว่า การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังจะมีการดำเนินการตลอดทั้งปี แต่ที่มีการเก็บเกี่ยวมากกว่า ร้อยละ 10 ของพื้นที่เก็บเกี่ยวของแต่ละภาคจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ในช่วงเดือนมกราคมจะมีการเก็บเกี่ยวมากที่สุด นอกจากนั้น ยังพบว่าในเขตภาคกลางจะเริ่มเก็บเกี่ยวก่อน ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ
วิธีการเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังมี 2 รูปแบบ
แบบหลักคือ ใช้แรงงานคนทั้งหมด กับการใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังฉุดลากด้วยรถแทรกเตอร์ล้อยาง 4 ล้อ ในขั้นตอนการขุด ขั้นตอนที่เหลือใช้แรงงานคนทั้งหมด
การใช้แรงงานคน เป็นวิธีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คือเกษตรกรจะถอนด้วยมือ หรือเครื่องมือที่ชาวบ้านหรือเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า “แมคโค” เครื่องมือนี้ใช้หลักการของคานดีดคานงัดมาช่วยผ่อนแรงในการถอนหัวมันสำปะหลัง เป็นแบบที่นิยมใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำด้วยเหล็ก ลักษณะคล้ายง่าม 2 ขา สวมติดอยู่กับคานไม้หรือเหล็กค่อนไปทางปลายด้านหน้า โดยเอาด้ามยาวเป็นด้ามสำหรับงัด คุณประสาท บอกว่า เครื่องมือเหล่านี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เฉพาะในพื้นที่ปลูกที่เป็นดินร่วนหรือดินปนทราย หรือการปลูกแบบยกร่อง แต่ถ้าดินมีสภาพแห้งมากการสูญเสียก็จะมากตามมา เนื่องจากการงัดมักจะขาดที่ขั้วหัวมัน และเกษตรกรจะต้องนำรถไถเดินตามติดผาลหัวหมูมาไถ เพื่อขุดมันที่ตกค้างในแปลง หลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้วในตอนแรก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเก็บเกี่ยวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนกรณีพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว อาจต้องขุดดินบางส่วนก่อน แล้วจึงจะถอนได้
วิธีการใช้เครื่อง ขุดมันสำปะหลัง
คุณประสาท เล่าต่อไปอีกว่า ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2530 การปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้รถแทรกเตอร์ ขนาดใหญ่ในการเตรียมดิน รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เกษตรกรรายใหญ่จะมีรถแทรกเตอร์ของตนเอง เสร็จงานของตนแล้วก็ไปบริการรับจ้างเกษตรกรรายอื่นๆ ปกติแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้บริการรถแทรกเตอร์รับจ้างของนายทุนรับซื้อพืชไร่ หรือของนายทุนคนอื่นๆ ในพื้นที่
ดังนั้น เครื่องขุดมันสำปะหลังในระยะแรกๆ จึงเป็นแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีขีดจำกัดในการใช้งาน โดยเฉพาะในแปลงของเกษตรกรขนาดกลางและขนาดเล็ก การลงทุนซื้อเครื่องขุดมันสำปะหลังเพื่อออกบริการรับจ้างนั้น
เจ้าของรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่พิจารณาเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร การใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังจึงจำกัดอยู่เฉพาะในเขตที่มีการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรรายใหญ่ในภาคตะวันออกได้แก่จังหวัดชลบุรีระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง เป็นต้น ส่วนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นยังคงใช้แรงงานคนในทุกขั้นตอนการขุดเก็บมันสำปะหลัง
“ภายหลังมีการนำเข้ารถแทรกเตอร์ ขนาด 25-50 แรงม้า ที่ใช้งานแล้วจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรบ้านเราอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากขนาดกำลังพอเหมาะกับสภาพการปลูกของเราแล้ว คุณภาพก็อยู่ในระดับดีด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ ราคาอยู่ในระดับที่เกษตรกรขนาดกลาง ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก ระหว่าง 20-50 ไร่ สามารถลงทุนซื้อมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า”
คุณประสาท กล่าวว่า ต่อมาปริมาณการใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กจึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเกษตรกรมีความต้องการใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ทั้งในด้านปัญหาลดความเหนื่อยยาก บรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขุดและเก็บมันสำปะหลัง จึงมีการพัฒนาและผลิตเครื่องขุดเก็บมันเพื่อใช้กับรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กออกจำหน่าย จนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร สภาพการใช้เครื่องขุดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้าง อัตราค่าจ้างขุด ประมาณ 200-250 บาท/ไร่ ขึ้นอยู่กับระยะทางจากบ้านเจ้าของเครื่องขุดไปแปลงของเกษตรกรที่ว่าจ้าง ขนาดและสภาพแปลงมันสำปะหลัง และปริมาณพื้นที่ที่ขุดในแต่ละวัน โดยทั่วไปจะขุดประมาณ 4-5 ไร่/วัน การบรรทุกรถสิบล้อ 1 เที่ยว จะได้น้ำหนัก ประมาณ 10-12 ตัน ใช้แรงงานคน ประมาณ 8-10 คน
เก็บรวบรวมและตัดหัว มันสำปะหลังออกจาก เหง้า หรือโคนต้น
ภายหลังการขุด เกษตรกรจะเก็บรวบรวมเหง้ามันสำปะหลังที่มีหัวติดและส่วนของหัวที่หักหรือหลุดออกจากเหง้า มารวมเป็นกองตามแนวที่จะให้รถบรรทุกวิ่งมาบรรทุกหลังการตัดหัวแล้ว การตัดหัวจะใช้มีดหรือขวานตัดหัวออกจากเหง้า ใบตัดหรือปลิดหัวมันออกจากเหง้าต้องใช้แรงงานคนทั้งหมด ยังไม่พบว่ามีการใช้เครื่องจักรทำแต่อย่างไร
การลำเลียงขึ้นรถบรรทุก และขนส่งไปจำหน่าย
ในการลำเลียงมันสำปะหลังขึ้นรถและขนไปจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเน้นแรงงานชุดเดียวกันกับแรงงานที่เก็บเกี่ยวและตัดหัวมันออกจากเหง้า แรงงานรับจ้างกรณีพื้นที่เก็บเกี่ยวขนาดใหญ่ อัตราค่าจ้างจะคิดตามน้ำหนักของหัวมันสด โดยทั่วไปจะอยู่ในราคา ประมาณ 100-120 บาท/ตัน สำหรับการเก็บรวมกอง ตัดหัวออกจากเหง้าขนย้ายขึ้นรถบรรทุกและค่าขนย้ายไปจำหน่าย ประมาณ 100-150 บาท/ตัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะทางจากแปลงไปสถานที่รับซื้อ
เครื่องขุดมันสำปะหลัง ปัจจุบัน ไม่มีระบบลำเลียง
คุณประสาท กล่าวว่า เครื่องขุดมันสำปะหลังที่มีการผลิตจำหน่ายในปัจจุบันนี้ เป็นเครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไม่มีระบบลำเลียง โดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ โครงเครื่อง ขายึดผาลขุด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ขาไถ และผาลขุด ส่วนของโครงเครื่องและขาไถของเครื่องขุดแต่ละแบบ จะมีลักษณะคล้ายกันคือ สามารถปรับเลื่อนซ้ายหรือขวา เพื่อให้สามารถทำงานในแต่ละแปลงที่มีระยะระหว่างแถวแตกต่างกันได้
ส่วนขาไถจะมีทั้งแบบโค้งและตรง โดยที่ด้านหน้าของขาไถ ออกแบบให้เป็นสามเหลี่ยมหรือโค้งบน เพื่อลดแรงต้านกับขี้ไถ และการสะสมวัชพืชขณะขุด จากการวิเคราะห์ในส่วนของเครื่องขุดมันสำปะหลัง พบว่าเครื่องขุดที่มีการใช้งานอยู่นี้ สามารถทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง และมีข้อเด่นหลายประการ เช่น การนำล้อคัดท้ายมาทำเป็นผาลขุด ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย มีความแข็งแรงเพียงพอ สามารถปรับเลื่อนหรือเปลี่ยนใบผาลได้เมื่อมีการสึกหรอ มีการออกแบบชุดผาลขุด เพื่อให้เหง้ามันสำปะหลังลอยเหนือดินขึ้นมาหลังการขุด การออกแบบปีกไถเพื่อให้มีการย้ายดิน และมีการออกแบบโครงสร้างที่แข็งแรง
“อย่างไรก็ตาม พบว่า มีข้อเสียหลายประการ เช่น การพลิกดินออกสองข้าง ทำให้ทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง การออกแบบชุดผาลขุดที่มีการพลิกดินมากเกินไป ทำให้มีการพลิกของเหง้ามันสำปะหลังมากเกินไป ทำให้ยากต่อการเก็บรวมกอง และเป็นสาเหตุของการสูญเสียผลผลิต นอกจากนั้น การออกแบบโครงไถ และระบบปรับเลื่อนให้เข้ากับระยะระหว่างแถว ยากต่อการปรับเลื่อน ไม่แข็งแรงเพียงพอ และชำรุดได้ง่าย ตลอดจนสร้างความยุ่งยากและเสียเวลาของผู้ควบคุมรถแทรกเตอร์ในการปรับเลื่อน”
คุณประสาท กล่าวอีกด้วยว่า เครื่องขุดมันสำปะหลังที่มีการผลิตจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน เพียงช่วยลดแรงงานในช่วงรถถอนจากดินเท่านั้น ส่วนการเก็บรวบรวมกอง การตัดหัวมันจากเหง้า และการขนย้าย ยังคงต้องใช้แรงงานคนถึง 2 ใน 3 ส่วน ของการใช้แรงคนทั้งหมดในการเก็บเกี่ยว จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังไม่เต็มความสามารถ ทำให้ผู้ที่จะลงทุนซื้อเครื่องขุดมันรับจ้างไม่กล้าลงทุน
วิจัยและพัฒนาเครื่องขุด มันสำปะหลัง ระบบลำเลียง
จากข้อจำกัดการใช้งานเครื่องขุดมันสำปะหลังที่มีจำหน่ายในปัจจุบันสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมกรมวิชาการเกษตรกลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช ทำการวิจัยคิดค้นเครื่องขุดมันสำปะหลังให้มีระบบลำเลียงเพื่อช่วยเก็บเหง้ามันสำปะหลังที่มีระบบลำเลียงแบบติดพ่วงด้านหลังท้ายรถแทรกเตอร์เพื่อช่วยเก็บเหง้ามันสำปะหลังขึ้นมาจากดินและลดขั้นตอนการเก็บเกี่ยวโดยมีคุณประสาท แสงพันธุ์ตา วิศวกรการเกษตรชำนาญการ เป็นหัวหน้าคณะทำการวิจัย
คุณประสาท ได้ออกแบบเครื่องขุดและรวบรวมหัวมันสำปะหลังเครื่องต้นแบบ ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบหลักๆ 4 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนที่เป็นผาลขุด ทำหน้าที่ขุดมันสำปะหลังขึ้นมาจากร่องปลูก
2. ส่วนที่เป็นระบบลำเลียง ทำหน้าที่ลำเลียงมันสำปะหลังที่ขุดขึ้นมาแล้วออกจากแนวร่องดิน
3. ส่วนเป็นกระบะรถบรรทุกชนิดพ่วง เมื่อเหง้ามันสำปะหลังถูกขุดด้วยส่วนผาลขุดแล้ว ส่วนที่เป็นระบบลำเลียง ก็จะหนีบจับตอของเหง้า แล้วลำเลียงส่งมายังรถกระบะบรรทุก เพื่อเก็บรวบรวมและนำมาลงเป็นกองไว้ เพื่อง่ายในการตัดหัวมันสำปะหลังและลำเลียงขึ้นรถบรรทุก และส่วนที่
4. เป็นส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักรองรับส่วนต่างๆ
“สรุปหลักการทำงานของเครื่องขุดมันสำปะหลังก็คือ นำเครื่องขุดมาพ่วงต่อกับรถแทรกเตอร์ เมื่อส่วนผาลขุดได้ขุดมันสำปะหลังขึ้นมาแล้ว เหง้ามันสำปะหลังจะถูกหนีบลำเลียงขึ้นมารวบรวมไว้บนกระบะรถบรรทุก แล้วนำไปกองรวมไว้ที่หัวแปลง เพื่อง่ายในการตัดหัวมันและลำเลียงขึ้นรถบรรทุกต่อไป”
ทดสอบเครื่องต้นแบบ
ผลการทดสอบเครื่องต้นแบบ พบว่า ส่วนผาลขุดและส่วนการหนีบลำเลียงควรห่างกัน 35 เซนติเมตร และส่วนผาลขุดควรมีซี่ยาว 15 เซนติเมตร ในการทดสอบ ใช้แรงงาน 4 คน เพื่อเดินตามเก็บเหง้ามันสำปะหลังที่ไม่ถูกหนีบ และหัวมันสำปะหลังที่ร่วงหล่น การตัดหัวมันสำปะหลังและการขนขึ้นรถบรรทุกในแปลงที่มีผลผลิตเฉลี่ย 5.76 ตัน/ไร่ ประสิทธิภาพในการหนีบและลำเลียง เฉลี่ย 88.38 เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพการทำงาน 67.13 เปอร์เซ็นต์ อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน 4.31 ลิตร/ไร่ มีหัวมันสูญเสีย รวม 3.47 เปอร์เซ็นต์ โดยหัวมันสูญเสียอยู่ในดิน 1.53 เปอร์เซ็นต์ สูญเสียอยู่บนดิน 1.94 เปอร์เซ็นต์ มีความสามารถในการทำงาน 0.39 ไร่/ชั่วโมง คิดเป็นอัตราส่วนต่อแรงงานเท่ากับ 4.5 ตัน/คน/วัน (วันละ 8 ชั่วโมง) ซึ่งสามารถลดแรงงานได้ 4.5 เท่า ของระบบการเก็บเกี่ยวเดิมที่ใช้แรงงานทุกขั้นตอนในการเก็บเกี่ยว
“จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม พบว่า เกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ระบบการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องขุดและเก็บมันสำปะหลัง ควรมีพื้นที่เก็บเกี่ยวของตนเอง รวมทั้งพื้นที่รับจ้างเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังของเกษตรกรอื่นๆ อย่างน้อย 105 ไร่/ปี 7 ปี ก็คุ้มทุน สำหรับความสามารถในการทำงานของเครื่อง ประมาณ 3.12 ไร่/วัน หรือ 8 ชั่วโมง/วัน หากมีพื้นที่เก็บเกี่ยวต่อปีมากขึ้นระยะเวลาในการลงทุนก็จะสั้นลง ดังนั้น การจัดการพื้นที่ที่จะเก็บเกี่ยวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่เกษตรกรต้องคำนึงถึง เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับการลงทุน” คุณประสาท กล่าว
สนใจสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 940-5582, (02) 579-4497 และ (068) 623-7536 ได้ทุกวันในเวลาราชการ
อ้างอิง
ข้อมูล นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com
matichon.co.th