พื้นที่ไร่ครึ่งของเกษตรกรใน จ.นครปฐม สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละครึ่งแสน จากการทำเกษตรประณีต ใช้เคมีน้อย โดยปลูกพืช 10 ชนิดเต็มพื้นที่เป็นชั้นๆ สลับเก็บผลผลิตหมุนเวียนขาย มีรายได้รายวัน-รายเดือนตลอดปี
ต้นสักทอง 700 ต้นปลูกเป็นแนวให้ต้นพลูได้เกาะเกี่ยว เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และสูงตามต้นสัก ให้ผลผลิตมากกว่าการปลูกต้นพลูเกาะต้นทองหลางแบบเดิม เกษตรกรชัยยาบอกว่า ต้นทองหลางขึ้นรกและไม่ให้ประโยชน์ ส่วนต้นสักใบใหญ่ให้ร่มเงาดี ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้านล่างยังสามารถปลูกส้มโอ มะนาว และใบชะพลูได้เต็มพื้นที่ไร่ครึ่ง รดน้ำให้ปุ๋ยครั้งเดียวก็ถึงพืชทุกชนิด และได้ผลผลิตหมุนเวียนขาย โดยชะพลูเก็บขายได้ทุกวัน วันละ 30-40 กิโลกรัม ส่วนใบพลูให้รายได้ทุกเดือน
ร่องสวนปลูกเตยหอม รอบบ้านปลูกผักสวนครัว เช่น พริก กะเพรา โหระพา แมงลัก สะระแหน่ ทั้งหมดใช้ปุ๋ยชีวภาพและสารสกัดธรรมชาติไล่แมลง เก็บขายได้ทุกวัน ส่งให้แม่ค้าในหมู่บ้านไปจำหน่ายในตัวเมืองนครปฐม รวมปลูกพืช 10 ชนิด ให้รายได้เฉลี่ยเดือนละ 50,000-60,000 บาท
กำนันตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี ยกสวนนี้เป็นตัวอย่างการทำเกษตรประณีตแบบธรรมชาติ ใช้สารเคมีน้อย ปลูกพืชหลากหลายชนิดในแปลงเดียวกัน ซึ่งช่วยลดต้นทุน ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่ และสร้างรายได้ต่อเนื่อง เหมาะกับตำบลแหลมบัว ซึ่งเป็นพื้นที่ดินดำน้ำชุ่ม หากเกษตรกรทุกรายยึดแนวทางจะไม่เป็นหนี้ และไม่จำเป็นต้องขายที่ทำกิน
ประชากร 70 เปอร์เซ็นต์ของตำบลแหลมบัว เป็นเกษตรกร ขณะนี้เกินครึ่งหันมาใช้สารชีวภาพมากขึ้น จากเดิมใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว แต่ละรายมีพื้นที่เฉลี่ย 5 ไร่ และกำลังเดินไปสู่เกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตเกษตรยั่งยืน อาหารปลอดภัยอีกแห่งหนึ่ง.
อ้างอิง : สำนักข่าวไทย