data-ad-format="autorelaxed">
“กรุงเทพโพลล์” เผยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่หนุนภาษีที่ดินฯ ชี้ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้รัฐพัฒนาท้องถิ่น เห็นควรยกเว้นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้าน พร้อมให้นำรายได้ส่วนหนึ่งมาตั้งธนาคารที่ดิน ช่วยคนไร้ที่ทำกิน...
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. “กรุงเทพโพลล์” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 65 คน เรื่อง "ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 58.5 เห็นด้วยกับกฎหมาย "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" โดยให้เหตุผลว่าเป็นเครื่องมือที่พอจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐในการใช้พัฒนาประเทศพัฒนาท้องถิ่น ขณะที่ร้อยละ 20.0 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าควรเน้นเก็บภาษีเฉพาะกับผู้ที่มีที่ดินมาก มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีบ้านราคาแพงๆ รวมถึงเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดีจึงเป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย ส่วนผู้มีรายได้สูงย่อมไม่กระทบ
เมื่อถามว่า "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ที่กำหนดให้ยกเว้นการเสียภาษีให้กับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เหมาะสมหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 เห็นว่า ไม่เหมาะสมโดยเห็นว่าควรยกเว้นในระดับที่สูงกว่านี้ที่ไม่เกิน 3.0 ล้านบาท ขณะที่ร้อยละ 33.8 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว สำหรับอัตราภาษีที่อยู่อาศัยที่เก็บ 0.1% ของราคาประเมิน นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 55.4 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว
ขณะที่ร้อยละ 10.8 เห็นว่าไม่เหมาะสม และร้อยละ 17.0 เห็นว่าควรใช้อัตราก้าวหน้าในการจัดเก็บ
ด้านการจัดเก็บภาษีที่ดิน เกษตรกรรม 0.05% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 41.5 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินไป อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนและค่อนข้างต่ำจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ลดลง สร้างต้นทุนและภาระให้กับเกษตรกร ดังนั้นจึงควรเว้นภาษีสำหรับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตร แต่ควรมีมาตรการกับนายทุนหรือผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง
ขณะที่ร้อยละ 32.3 เห็นด้วย
สำหรับแนวคิดการนำรายได้ส่วนหนึ่งจาก "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" มาสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน พบว่าร้อยละ 50.8 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 33.8 ไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีความเห็นต่อ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ต่อประเด็นต่างๆ ดังนี้ โดยร้อยละ 56.9 เห็นว่า ไม่ช่วยลดการซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร ร้อยละ 46.2 เห็นว่า การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บจากคนในท้องถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการใช้เงินงบประมาณ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น
ขณะที่ร้อยละ 32.3 เห็นว่า การที่คนในท้องถิ่นจ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ไม่มีส่วนทำให้การเมืองท้องถิ่นมีการพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม ร้อยละ 50.8 เห็นว่า ไม่ช่วยสร้างความเป็นธรรม หรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้อย่างมีนัยสำคัญ และร้อยละ 43.1 เห็นว่า จะช่วยให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ลดที่ดิน รกร้างว่างเปล่า ได้อย่างมีนัยสำคัญ.
thairath.co.th