data-ad-format="autorelaxed">
กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/58 พร้อมจัดอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกแบบระบบน้ำหยด ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยปี 58 ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาด 30.91 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกและบำรุงรักษาที่ดีขึ้น
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง ว่า ปี 2558 ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดประมาณ 30.91 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 3 เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกรวมถึงมีการบำรุงรักษาที่ดีขึ้น โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เช่น มันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหาร และ อุตสาหกรรมเอทานอล เป็นต้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศและเพื่อการส่งออกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังประมาณร้อยละ 25 เป็นการใช้ในประเทศ ที่เหลือร้อยละ 75 เพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคามันสำปะหลังยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยอย่างต่อเนื่อง การปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่เกษตรกรจะประสบปัญหา ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและผลผลิตต่อไร่ต่ำ โดยราคาเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ที่เกษตรกรขายได้ ราคาหัวมันสดเฉลี่ยที่ 2.15 บาท/กก. และราคามันเส้นเฉลี่ย 5.20 บาท/กก.
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 อนุมัติแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/58 คือ โครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด โดยให้เกษตรกรกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ปกติ ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่มกราคม–ธันวาคม 2558 เพื่อพัฒนาการเพาะปลูกให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง โดยภาครัฐชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 24 เดือน (เริ่มมกราคม 2558 แต่ไม่เกินธันวาคม 2560) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 100,000 ราย วงเงินกู้ 23,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด โดยมีเกษตรกรในแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ เช่น นครราชสีมา กำแพงเพชร กาญจนบุรี และสระแก้ว เข้ารับการอบรมจำนวน 600 ราย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ