ปุ๋ยเคมี |
ปุ๋ยเคมีที่จะกล่าวถึงในหัวข้อนี้หมายถึงปุ๋ยที่สังเคราะห์ขึ้นโดยกระบวนการทางเคมี รวมทั้งสินแร่ต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นปุ๋ย ปุ๋ยเคมีอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามธาตุอาหารที่พืชได้รับจากปุ๋ยเคมีนั้น ๆ ดังนี้ 1. ปุ๋ยธาตุหลัก ปุ๋ยธาตุหลัก หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแตสเซียม โดยอาจมีเพียงธาตุใดธาตุหนึ่งหรือมีมากกว่าหนึ่งธาตุในปุ๋ยชนิดเดียวกันก็ได้ ปุ๋ยธาตุเหล็กสามารถแยกย่อยตามธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยนั้น ได้แก่ ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสฟอรัส ปุ๋ยโพแตสเซียม และปุ๋ยผสม 2. ปุ๋ยธาตุรอง ปุ๋ยธาตุรอง หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน โดยอาจมีเพียงธาตุใดธาตุหนึ่งหรือมีมากกว่าหนึ่งธาตุในปุ๋ยชนิดเดียวกันก็ได้ 3. ปุ๋ยจุลธาตุ ปุ๋ยจุลธาต หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุเหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โมลิมดินัม หรือโบรอน |
ปุ๋ยไนโตรเจน |
1. แอมโมเนีย (NH3) |
แอมโมเนีย เป็นแก๊ส สังเคราะห์ขึ้นจากปฏิกริยาระหว่าง N2 กับ H2 ดังสมการ N2 เป็นวัตถุดิบที่ได้จากอากาศจึงเกือบจะไม่มีต้นทุนใด ๆ ในการผลิต ส่วน H2 มักผลิตจากแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน หรือถ่านหิน การใช้เป็นปุ๋ยสามารถใช้ได้ทั้งในรูปแอมโมเนียเหลว (แก๊ส NH3 ที่นำมาอัดให้ความดันสูงจนเป็นของเหลว) โดยใช้เครื่องมือพิเศษฉีดลงในดิน หรือใช้ในรูปแอมโมเนียน้ำ (แก๊ส NH3 นำมาละลายน้ำ) ใช้โดยการฉีดพ่น เนื่องจากความยุ่งยากในการใช้และการขนส่ง เกษตรกรไทยยังไม่นิยมใช้ปุ๋ยชนิดนี้ |
2. ยูเรีย (Urea : NH2CONH2) |
ยูเรียเป็นสารที่สังเคราะห์จากปฏิกริยาระหว่าง CO2 กับ NH3ดังสมการ ยูเรียเป็นปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนตกถึงร้อยละ 46 และ มักมีราคาต่อหน่วยน้ำหนักของธาตุอาหารต่ำกว่าปุ๋ยไนโตรเจนที่เป็นของแข็งชนิดอื่น ทำให้ปุ๋ยยูเรียได้รับความนิยมแพร่หลาย ยูเรียเป็นสารที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง แต่เมื่อใส่ปุ๋ยยูเรียลงในดิน ยูเรียจะถูกไฮโดรไลซ์โดยมีเอนไซม์ urease ช่วยเร่งปฏิกริยา และถ้าอยู่ในภาวะที่มีออกซิเจนเพียงพอ NH4+ ที่เกิดขึ้นจะถูกจุลินทรีย์ออกซิไดซ์ต่อไปเป็น NO3- ดังปฏิกริยาการเปลี่ยนยูเรียเป็นแอมโมเนียมหรือไนเตรตใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ พืชจึงตอบสนองต่อปุ๋ยยูเรียช้ากว่าปุ๋ยไนโตรเจนที่เป็นสารประกอบไนเตรต ยูเรียนอกจากใช้เป็นปุ๋ยทางดินแล้วสามารถใช้เป็นปุ๋ยทางใบได้ดีอีกด้วย ปุ๋ยยูเรียมีผลตกค้างทำให้ดินเป็นกรด ดังนั้นเมื่อใช้ปุ๋ยยูเรียติดต่อกันเป็นเวลานาน จะต้องหว่านปูนเพื่อกำจัดกรดที่เกิดขึ้น |
3. แอมโมเนียมซัลเฟต ((NH4)2SO4) |
ปุ๋ยชนิดนี้อาจผลิตโดยตรงจากปฏิกริยาเคมีระหว่างแอมโมเนียกับกรดซัลฟูริค หรือเป็นผลพลอยได้ (by-product) เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-product) ของการผลิตสารเคมีชนิดอื่น เช่น การกลั่นถ่านหิน การผลิตคาร์โปรเลคเทม การผลิต TiO2 หรือ การผลิตปุ๋ยยูเรีย เป็นต้น ปุ๋ยตัวนี้มีไนโตรเจน 21% และกำมะถัน 24% จึงเป็นปุ๋ยที่ให้ทั้งธาตุหลักและธาตุรอง เหมาะกับดินที่มีทั้งไนโตรเจนและกำมะถันต่ำ ปุ๋ยนี้มีผลตกค้างในดินเป็นกรด เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงต้องใส่ปูนเพื่อเพิ่ม pH ของดิน |
4. แอมโมเนียคลอไรด์ (ammonium chloride : NH4Cl) |
ปุ๋ยชนิดนี้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นผลพลอยได้จากการผลิต Soda ash (Na2CO3) และการผลิตผงชูรส ปุ๋ยตัวนี้มีไนโตรเจนประมาณ 25% พืชโดยทั่วไปต้องการคลอไรด์เพียงเล็กน้อย การใช้ปุ๋ยตัวนี้ติดต่อกันอาจทำให้ดินมีความเค็มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เหมาะกับพืชที่ต้องการคลอไรด์สูง เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ปุ๋ยตัวนั้นมีผลตกค้างในดินเป็นกรดเช่นเดียวกัน เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงต้องใส่ปูนเพื่อเพิ่ม pH ของดิน |
5. แอมโมเนียไนเตรต (ammonium nitrate : NH4NO3) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตจากปฏิกริยาเคมีระหว่างแอมโมเนียกัลกรดไนตริกมีไนโตรเจนประมาณ 34 % ปุ๋ยตัวนี้มีข้อดีที่ละลายน้ำได้ดีพืชจึงสามารถนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ดินดูดซับ NH4+ ได้ดี แต่ถ้าใช้ในดินด่างจะทำให้สูญเสีย NH4+อย่างรวดเร็ว จากปฏิกริยา NH4+ + OH- -> NH3 + H2O ปุ๋ยตัวนี้เป็นสารออกซิไดซ์อย่างดี จะต้องเก็บรักษาห่างจากวัตถุไวไฟ หรือวัตถุที่ติดไฟได้ทุกชนิด มีผลตกค้างในดินเป็นกรดเช่นเดียวกับปุ๋ยไนโตรเจนชนิดอื่นที่กล่าวแล้ว สำหรับประเทศไทย สารนี้จัดเป็นยุทธปัจจัย ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยตาม พรบ. ปุ๋ย 2518 ได้ |
6. โซเดียมไนเตรต (Sodium nitrate : NaNO3) |
ปุ๋ยตัวนี้ส่วนใหญ่ได้จาก chilean saltpeter ซึ่งค้นพบในปี ค.ศ. 1830 ในประเทศชิลี ปุ๋ยตัวนี้มีไนโตรเจนเพียง 16% และมีโซเดียมซึ่งพืชโดยทั่วไปไม่ต้องการ ทำให้ตกค้างในดินและดินมีความเค็มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในธรรมชาติมีสารนี้อยู่น้อยทำให้มีการใช้น้อย |
7. แคลเซียมไนเตรต (calcium nitrate : Ca(NO3)2) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตจากประเทศนอรเวเป็นส่วนใหญ่มีไนโตรเจนเพียงประมาณ 17% แต่มีแคลเซียมซึ่งเป็นธาตุอาหารรองที่พืชต้องการ โดยเฉพาะพืชที่ปลูกในดินกรด ปุ๋ยชนิดนี้ดูดความชื้นได้ดีมาก ทำให้ยากต่อการเก็บรักษาและราคาในท้องตลาดมักแพงเมื่อเทียบกับยูเรีย |
8. แคลเซียมไซยามามีด (calcium cyanamide : CaCN2) |
ปุ๋ยชนิดนี้ปัจจุบันมีใช้น้อย มีประเทศผู้ผลิตเพียงรายเดียว คือ ประเทศญี่ปุ่น มีไนโตรเจนประมาณ 21-22% พืชไม่สามารถใช้สารตัวนี้ได้โดยตรง แต่เมื่อใส่ปุ๋ยนี้ลงในดินจะเกิดปฏิกริยากับน้ำในดินได้แก๊ส NH3 ดังสมการ CaCO3 ที่เกิดขึ้นทำให้ดินมี pH สูงขึ้น นอกจากนี้หากดินเป็นดินด่าง NH3 ที่เกิดขึ้นจะระเหยไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นปุ๋ยชนิดนี้จึงเหมาะที่จะใช้ในดินกรด CaCN2 เป็นสารที่มีพิษ จึงสามารถใช้กำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะพวกไส้เดือนฝอยได้ด้วย |
ปุ๋ยฟอสฟอรัส |
1. หินฟอสเฟต (rock phosphate) |
ปุ๋ยชนิดนี้ได้จากการนำหินฟอสเฟตมาบด โดยไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีใด ๆ หินฟอสเฟตมีฟอสฟอรัสทั้งหมดประมาณ 25-35% P2O5 แต่มีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพียงประมาณ 3-10% P2O5 ปุ๋ยชนิดนี้จะสลายตัวปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาอย่างช้า ๆ อัตราการสลายตัวจะเร็วขึ้นถ้าดินเป็นกรด ปุ๋ยชนิดนี้จึงเหมาะกับการใช้เพื่อหวังผลในระยะยาว เช่น ใช้เป็นปุ๋ยรองก้นหลุม หรือใช้กับไม้ยืนต้น เป็นต้น |
2. ชูเปอร์ฟอสเฟตธรรมดา (ordinary superphosphate) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตโดยนำหินฟอสเฟตมาทำปฏิกริยากับกรด H2SO4 เพื่อทำให้ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์กับพืชมีเพิ่มขึ้นเป็น 20-21 % P2O5 ปุ๋ยชนิดนี้นอกจากมีธาตุอาหารหลักแล้ว ยังมีธาตุอาหารรอง คือ แคลเซียมและกำมะถันอยู่ด้วย |
3. ทริปเปิลชูเปอร์ฟอสเฟต (triple superphosphate) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตโดยนำหินฟอสเฟตมาทำปฏิกริยากับกรด H3PO4 ทำให้ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์กับพืชมีสูงถึง 45-46% P2O5 |
4. โมโมแอมโมเนียมฟอสเฟต (momoammonium phosphate : MAP) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตโดยนำแก๊สแอมโมเนียมาทำปฏิกริยากับกรด H3PO4 โดยใช้อัตราส่วนจำนวนโมลเป็น 1 : 1 ปุ๋ยชนิดนี้จึงมีธาตุอาหารหลักทั้งไนโตรเจนและฟอสฟอรัสโดยมีสูตรปุ๋ยเป็น 12-62-0 |
5. ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (diammonium phosphate : DAP) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตโดยนำแก๊สแอมโมเนียมาทำปฏิกริยากับกรด H3PO4 โดยใช้อัตราส่วนจำนวนโมลเป็น NH3:H3PO4 = 2:1 ปุ๋ยชนิดนี้จึงมีธาตุอาหารหลักทั้งไนโตรเจนและฟอสฟอรัส โดยมีสูตรปุ๋ยเป็น 21 -53 - 0 |
6. แคลเซียมเบตาฟอสเฟต (ealcium metaphosphate : Calmeta) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตโดยนำหินฟอสเฟตมาทำปฏิกริยากับแก๊ส P2O5 (phosphorus pentoxide) ปุ๋ยชนิดนี้มีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์กับพืชสูงถึงประมาณ 63 % P2O5 อย่างไรก็ตามต้นทุนในการผลิตปุ๋ยชนิดนี้มีราคาแพง ทำให้มีการใช้น้อย |
ปุ๋ยโพแตสเซียม |
1. โพแตสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride : MOP) |
ปุ๋ยชนิดนี้ได้จากแร่ silvite หรือ silivinite ที่นำมาแยกเอาสิ่งเจือปนออกจนได้โพแตสเซียมประมาณ 50-60% K2O ปุ๋ยโพแตสเซียมที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยชนิดนี้ เนื่องจากมีราคาถูก แต่ปุ๋ยชนิดนี้ไม่เหมาะกับพืชที่ต้องการคลอไรด์น้อย การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้คลอไรด์สะสมในดินมาก ทำให้ดินมีความเค็มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการสะสมไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับพื้นที่ที่มีฝนตกชุก |
2. โพแตสเซียมซัลเฟต (potassium sulfate : SOP) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตจากแร่ longbetnite หรือแร่ kainite มีโพแตสเซียมประมาณ 50-54 % K2O นอกจากใช้เป็นปุ๋ยโพแตสเซียมแล้ว ยังใช้เป็นปุ๋ยกำมะถันได้อีกด้วย พืชส่วนใหญ่ต้องการกำมะถันมากกว่าคลอไรด์ แต่ราคาที่แพงกว่า KCl จึงอาจไม่คุ้มค่าที่จะใช้กำมะถันจากปุ๋ย K2SO4 |
3. โพแตสเซียมฟอสเฟต (KH2PO4) |
ปุ๋ยชนิดนี้ผลิตจากปฏิกริยาเคมีระหว่าง KCl กับกรด H3PO4 มีสูตรปุ๋ยเป็น 0-52-35 มีข้อดีที่มีความเข้มข้นของธาตุอาหารสูงและมีทั้งฟอสฟอรัสและโพแตสเซียมอยู่ในสารตัวเดียวกัน เหมาะที่จะใช้ในกรณีที่ไม่ต้องการเพิ่มความเข้มข้นของเกลือ หรือต้องการความเข้มข้นของธาตุอาหารสูง เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่มีราคาแพงจึงมีปริมาณการใช้น้อย |
ปุ๋ยธาตุรอง |
โดยทั่วไปพืชต้องการธาตุอาหารรอง (Ca, Mg, S) น้อยกว่าธาตุอาหารหลัก (N, P, K ) ทำให้มีโอกาสขาดแคลนน้อยกว่าการใช้ปุ๋ยธาตุรองจึงไม่แพร่หลาย หรือไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเกษตรกร พืชมีโอกาสขาดธาตุรองได้หากดินมีธาตุรองอยู่น้อย และพืชที่ปลูกต้องการธาตุรองมาก ปุ๋ยธาตุรองได้จาก 2 แหล่ง คือ 1. เป็นส่วนประกอบของปุ๋ยธาตุอาหารหลัก เช่น | ปุ๋ยหินฟอสเฟต มี Ca อยู่ด้วย | | ปุ๋ย OSP มี Ca และ S อยู่ด้วย | | ปุ๋ย (NH4)2SO4 มี S อยู่ด้วย | | ปุ๋ย K2SO4 มี S อยู่ด้วย |
2. ได้จากสินแร่ หรือสารที่มีธาตุอาหารรอง เช่น | หินปูน (CaCO3) หรือปูนขาว (Ca(OH2)) | | ยิปซัม (CaSO4 .2H2O) | | โดโลไมต์ (CaCO3.MgCO3) | | ดีเกลือ (MgSO4 .7H2O) | | langbeinite ( K2SO4 .2MgSO4) | | Carnallite (KCl. MgCl2.6H2O) | | Kieserite (MgSO4 .H2O) |
การเลือกใช้ปุ๋ยธาตุรองขึ้นอยู่กับความสะดวกในการจัดหาและราคา |
ปุ๋ยจุลธาตุ |
พืชต้องการจุลธาตุในปริมาณน้อย ดินโดยทั่วไปไม่ค่อยขาดจุลธาตุ ทำให้ปุ๋ยจุลธาตุไม่มีจำหน่ายแพร่หลายเหมือนปุ๋ยธาตุหลัก อย่างไรก็ตามพืชมีโอกาสขาดได้เช่นกัน การให้ปุ๋ยจุลธาตุทางดินมักแก้ปัญหาได้ช้า ดังนั้นหากพบว่าพืชขาดจุลธาตุมักนิยมใช้ปุ๋ยทางใบ ซึ่งจะแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่า จากนั้นจึงค่อยให้ปุ๋ยทางดินเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว สารเคมีที่ใช้เป็นปุ๋ยจุลธาตุ แสดงในตาราง |
ตารางที่ 4 สารเคมีที่ใช้เป็นปุ๋ยจุลธาตุ | ชื่อสาร | สูตรเคมี | ร้อยละของธาตุอาหาร | Ferrous sulfate | FeSO4. 7H2O | 20% Fe | Manganese sulfate | MnSO4 . 3H2O | 23% Mn | Manganese chloride | MnCl2. 4H2O | 27% Mn | Copper sulfate | CuSO4. 5H2O | 25% Cu | Copper chloride | CuCl2. 2H2O | 37% Cu | Zinc sulfate | ZnSO4. 7H2O | 35% Zn | Borax | Na2B4O7.10H2O | 11% B | Boric acid | H3BO3 | 17% B | Sodium molybdate | Na2MoO4. 2H2O | 39% Mo |
|
|
ปุ๋ยผสม |
การใช้ปุ๋ยให้ตรงตามความต้องการของพืช และเหมาะสมกับดิน โดยทั่วไปต้องใช้ปุ๋ยชนิดที่กล่าวแล้วหลายชนิดในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดความไม่สะดวกกับเกษตรกรผู้ใช้ เนื่องจากต้องจัดหาปุ๋ยหลายชนิด นอกจากนี้ยังเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจกับเกษตรกรสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดูแลด้านการส่งเสริมเกษตร ดังนั้นจึงมีการคิดค้นการผลิตปุ๋ยผสมขึ้น และใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ปุ๋ยผสมสามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิด ตามกรรมวิธีการผลิต คือ |
1. ปุ๋ยผสมคลุกเคล้า (bulk blend) ปุ๋ยผสมชนิดนี้ผลิตโดยนำแม่ปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมคลุกเคล้ากันด้วยวิธีกล (mechanical mixing) การผลิตปุ๋ยผสมชนิดนี้มีต้นทุนในการผลิตต่ำ ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตปุ๋ยผสมแบบนี้มากกว่า 10 โรง ปุ๋ยผสมชนิดนี้เลือกใช้แม่ปุ๋ยได้น้อยชนิด เนื่องจากแม่ปุ๋ยจะต้องไม่เกิดปฏิกริยาเคมีต่อกัน มีขนาดเม็ดปุ๋ยและความหนาแน่นใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้ปุ๋ยแยกออกจากกันระหว่างการขนส่ง |
2. ปุ๋ยผสมแบบปั้นเม็ด (steam granulation) ปุ๋ยผสมชนิดนี้ผลิตโดยนำแม่ปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมกับสารถ่องน้ำหนัก (filler) และ/หรือสารเติมแต่ง (fortilizer additive) มาผสมกัน ฉีดพ่นไอน้ำ หรือสารละลายต่าง ๆ เช่น NH4OH, H2SO4 หรือ H3PO4 เป็นต้น ลงไปเพื่อให้ส่วนผสมชื้น ปล่อยให้ปฏิกริยาเคมีต่าง ๆ เกิดขึ้นจนสมบูรณ์ แล้วจึงปั้นส่วนผสมทั้งหมดให้เป็นเม็ด ปุ๋ยผสมชนิดนี้มีธาตุอาหารพืชสม่ำเสมอทุกเม็ด ใช้แม่ปุ๋ยได้หลากหลายชนิด และสามารถผลิตปุ๋ยผสมได้มากสูตรกว่าปุ๋ยผสมชนิดคลุกเคล้า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตปุ๋ยผสมชนิดนี้อยู่ 3 ราย คือ บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด และบริษัท ปุ๋ยไทย จำกัด |
หลักในการใช้ปุ๋ย |
เพื่อให้พืชที่ผลิตมีการเจริญเติบโตที่ดี มีผลผลิตสูงและมีคุณภาพของผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการ เกษตรกรจะต้องใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ปุ๋ยเป็นสินค้าที่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีวัตถุดิบภายในประเทศ แต่ประเทศไทยสามารถผลิตปุ๋ยใช้เองได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ |
ตารางที่ 5 ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ | ปี พ.ศ. | ปริมาณ (ตัน) | มูลค่า (พันล้านบาท) | 2534 | 2,374,304 | 10,334,568 | 2535 | 2,866,159 | 12,585,797 | 2536 | 3,265,883 | 13,693,724 | 2537 | 3,107,857 | 13,549,811 | 2538 | 3,160,986 | 15,812,074 | 2539 | 3,439,999 | 18,242,196 | 2540 | 2,990,995 | 16,933,863 | 2541 | 2,873,514 | 17,851,881 |
| ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2539,2542) |
|
หลักในการใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพ |
1. ใช้ปุ๋ยชนิดที่พืชต้องการ ชนิดของปุ๋ยในที่นี้ หมายถึง ชนิดของธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ย พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารในสัดส่วนที่แตกต่างกัน พืชตระกูลถั่วต้องการปุ๋ยไนโตรเจนน้อย เนื่องจากพืชตระกูลถั่วนี้สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้เอง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการ Ca สูงและต้องการ Co สำหรับการสร้างเอนไซม์ของจุลินทรีย์ที่ปมราก ดินที่ปลูกเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการกำหนดชนิดของปุ๋ย ดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงมักต้องการไนโตรเจนและกำมะถันน้อย เพราะพืชได้รับธาตุอาหารทั้งสองจากการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุ ดินกรดมักมีฟอสฟอรัสต่ำ เนื่องจากฟอสฟอรัสในดินส่วนใหญ่ได้จากการสลายตัวของแร่ apalite (Ca10(PO4CO3)6(F,OH,Cl)2) แร่ชนิดนี้สลายตัวได้เร็วในดินกรด ดังนั้นดินที่เป็นกรดจึงมักไม่มีแร่ชนิดนี้เหลืออยู่อย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินที่มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวมักมีธาตุโพแตสเซียมสูงกว่าดินทราย ดินเหนียวจึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยโพแตสเซียมหรือใช้น้อยกว่าดินทราย อย่างไรก็ตามการกำหนดชนิดของปุ๋ยที่ถูกต้องควรกำหนดจากผลการวิเคราะห์ดินหรือพืช |
2. ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่พืชต้องการ การใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากเกินความต้องการของพืชย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ธาตุอาหารพืชบางชนิด โดยเฉพาะจุลธาตุหากใช้ในปริมาณที่สูงเกินไปจะทำให้เป็นพิษต่อพืช ธาตุไนโตรเจนถึงแม้พืชจะต้องการในปริมาณมาก แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้พืชลุกช้า คุณภาพผลไม่ดี กิ่งก้านและใบไม่แข็งแรงหักโค่นได้ง่าย และไม่ต้านทานต่อโรคและแมลง ปุ๋ยส่วนเกินมักถูกชะล้างลงสู่น้ำใต้ดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ |
3. ใช้ในปริมาณที่คุ้มค่าต่อการลงทุน การทำให้พืชได้ผลผลิตสูงสุดอาจไม่เป็นผลดีกับเกษตรกรเสมอไป หากการลงทุนนั้นได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าของเศรษฐกิจ ดังนั้นควรลงทุนใช้ปุ๋ยเฉพาะกรณีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ผลตอบแทนอาจไม่อยู่ในรูปของเงินที่ได้รับในการปลูกพืชครั้งนั้น แต่อาจได้รับเมื่อปลูกพืชครั้งต่อ ๆ ไป |
4. ใส่ปุ๋ยเมื่อพืชต้องการ ระยะการเจริญเติบโตของพืชที่แตกต่างกันทำให้พืชต้องการชนิดและปริมาณปุ๋ยที่แตกต่างกันออกไป สำหรับพืชฤดูเดียว (พืชล้มลุก) ควรต้องการธาตุอาหารแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ- ระยะเริ่มงอก อายุตั้งแต่เริ่มปลูกถึงประมาณ 30-45 วัน ระยะนี้พืชยังต้องการธาตุอาหารน้อย เนื่องจากระบบรากยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การให้ปุ๋ยควรเน้นที่ปุ๋ยไนโตรเจน และธาตุที่ดินมีไม่เพียงพอ แต่ต้องให้ในปริมาณน้อย
- ระยะแตกต่างหรือสร้างตาดอก อายุประมาณ 30-60 วัน ระยะนี้พืชจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องการธาตุอาหารมาก หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการของพืช
- ระยะสร้างผลและเมล็ด หรือระยะที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว พืชต้องการธาตุอาหารลดลงเรื่อย ๆ จนผลร่วงหรือฝักแก่ การให้ปุ๋ยในระยะนี้ไม่ค่อยจำเป็น โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนไม่ควรให้ในระยะนี้
สำหรับไม้ผลความต้องการปุ๋ยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คล้ายกับพืชฤดูเดียว คือ
- ระยะสร้างใบ ระยะนี้มักอยู่ในช่วงต้นฤดูฝนหรือช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ต้นไม้ต้องการสร้างอาหารสะสมไว้เพื่อการออกดอกและให้ผลผลิตในฤดูกาลต่อไป ในช่วงนี้จึงควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง หรือให้ปุ๋ยสัดส่วนเสมอ (1 :1 :1) เช่น สูตร 15-15-15 ในกรณีของพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การให้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยก็จะช่วยส่งเสริมให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
- ระยะสร้างดอก ระยะนี้มักเป็นช่วงฤดูฝนพืชต้องการธาตุอาหารในการสร้างตาและดอกค่อนข้างสูง ปุ๋ยที่ควรให้จึงเป็นปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส เช่น สูตร 6-24-6 หรือ 12-24-12 หรือใช้แม่ปุ๋ยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ปุ๋ยฟอสฟอรัสเป็นปุ๋ยที่ตกค้างในดินได้นาน หากใช้ปุ๋ยในอัตราสูงติดต่อกันหลายปี ควรนำดินหรือพืชไปวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบว่าพืชยังคงขาดฟอสฟอรัสหรือไม่
- ระยะที่พืชกำลังติดผล พืชต้องการธาตุไนโตรเจนเพื่อการเจริญเติบโตของผล ถ้าไนโตรเจนมากเกินไปพืชมักจะสลัดผลอ่อนทิ้ง หากให้ปุ๋ยไนโตรเจนในระยะที่ 1 และ 2 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยไนโตรเจนอีก พืชต้องการโพแตสเซียมสูงขึ้นเพื่อช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งด้านรสชาติและการเก็บรักษาหลังเก็บเกี่ยว
|
5. ใส่ในบริเวณที่พืชดูดไปใช้ได้ง่าย การใส่ปุ๋ยควรใส่ในบริเวณที่รากพืชแผ่ขยายไปถึง โดยคำนึงถึงความสามารถในการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยไปหารากประกอบด้วย ปุ๋ยไนโตรเจน สามารถเคลื่อนที่ได้ดีในดิน การหว่านบนผิวดินจึงให้ผลไม่ต่างจากการสับกลบ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนครั้งละมาก ๆ ทำให้ปุ๋ยถูกชะล้างผ่านชั้นรากพืชไปก่อนที่พืชจะดูดไปใช้ โดยเฉพาะเมื่อรากพืชกระจายอยู่ในชั้นหน้าดินเป็นส่วนใหญ่ เช่น พืชฤดูเดียว หรือไม้ผลที่ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน หรือปักชำ ดังนั้นการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนจึงควรใส่ครั้งละน้อย ๆ แต่บางครั้ง ปุ๋ยฟอสฟอรัสเคลื่อนย้ายในดินได้ช้า จึงควรใส่โดยวิธีสับกลบ หรือใส่เป็นปุ๋ยรองพื้น ปุ๋ยโพแตสเซียมเคลื่อนย้ายในดินได้ช้ากว่าไนโตรเจนเนื่องจากมีประจุมาก แต่เคลื่อนย้ายได้เร็วกว่าฟอสฟอรัส ปุ๋ยโพแตสเซียมจึงสามารถใส่ได้ทั้งหว่านบนดินและสับกลบ |
วิธีการใส่ปุ๋ย |
1. การใส่รองพื้น (basal application) การใส่ปุ๋ยวิธีนี้ หมายถึง การใส่ปุ๋ยก่อนปลูกพืชหรือพร้อมการปลูกพืช ปริมาณที่ใส่ประมาณ ของปริมาณที่ต้องใส่ในฤดูปลูกนั้น ๆ วิธีใส่ปุ๋ยรองพื้นมี 2 วิธี คือ- การใส่แบบหว่าน (broadcasting) เป็นการหวนปุ๋ยบนผิวดินทั่วทั้งแปลงอย่างสม่ำเสมอแล้วไถกลบ จากนั้นจึงปลูกพืช การใส่แบบนี้เหมาะสำหรับพืชที่ปลูกโดยการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ด เช่น ข้าว ข้าวโพด หญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- การใส่รองก้นหลุม (bedding) เป็นการใส่ปุ๋ยลงไปในหลุมปลูกก่อนการปลูกพืช วิธีนี้เหมาะกับพืชที่ต้องขุดหลุมปลูก หรือปลูกโดยการย้ายต้นกล้า เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้นต่าง ๆ
|
2. การใส่หลังปลูก (Top dressing) เป็นการใส่ปุ๋ยเมื่อพืชเจริญเติบโตเข้าสู่ระบบเจริญทางด้านลำต้น (vegetative growth) ซึ่งประมาณ 30-45 วัน หลังปลูกสำหรับพืชฤดูเดียว ปริมาณปุ๋ยที่ใช้อาจเป็น หรือ ของปริมาณปุ๋ยที่ต้องใช้ทั้งฤดู วิธีใส่มีหลายวิธีดังนี้- การใส่แบบหว่าน (broadcasting) เป็นการใส่โดยหว่านให้ทั่วทั้งแปลงอย่างสม่ำเสมอ วิธีนี้ใช้กับพืชที่มีระยะปลูกสม่ำเสมอ เช่น ข้าว หญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- การใส่แบบโรยเป็นแถว (banding application) เป็นการใส่โดยโรยเป็นแถวไปตามแถวที่พืชปลูก หรือขุดหลุมหยอดปุ๋ยไปตมแถวพืชที่ปลูก หรือทำร่องขนาดไปกับแถวพืชที่ปลูกแล้วโรยปุ๋ยลงในร่อง วิธีนี้เหมาะกับพืชที่ปลูกเป็นร่อง หรือเป็นแถว เช่น ฝักต่าง ๆ หรือ ข้าวโพด เป็นต้น
- ใส่รอบโคนต้น (ring application) เป็นการใส่โดยโรยปุ๋ยรองโคนต้นตามแนวรัศมีพุ่มใบ หรืออาจทำเป็นร่องตื้น ๆ เพื่อป้องกันฝนชะ หลังจากโรยปุ๋ยแล้วให้ใช้ดินกลบ วิธีนี้เหมาะกับพืชยืนต้น ต่าง ๆ
|
3. การฉีดพ่นทางใบ (foliar application) ถึงแม้ในพืชจะไม่ใช้อวัยวะดูดซับธาตุอาหาร แต่ธาตุอาหารสามารถซึมซับเข้าใส่ใบได้ การให้ปุ๋ยทางใบใช้ในกรณ๊ที่พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารชนิดนั้น ๆ โดยเฉพาะจุลธาตุ หรือกรณีที่ต้องการเร่งการเจริญเติบโต หรือให้เพื่อเสริมการดูดซับทางรากในระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารนั้นมาก การฉีดพ่นทางใบจะต้องกระทำบ่อยครั้ง ทำให้มีค่าแรงที่สูงกว่าการใช้ปุ๋ยทางดิน ในระยะยาวการให้ปุ๋ยทางดินจึงคุ้มค่า ความเข้มข้นของปุ๋ยที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช หากใช้ความเข้มข้นสูงเกินไปจะทำให้ใบพืชไหม้ การฉีดพ่นควรกระทำในตอนเย็น และควรเติบสารจับใบลงไปด้วยเพื่อช่วยให้หยดสารละลายปุ๋ยเกาะอยู่บนในพืชสนามพอที่จะซัมซับเข้าไปในใบได้ |
|
บรรณานุกรม |
- ดุสิต มานะจุติ (2535). ปฐพีวิทยาทั่วไป, กองบริการการศึกษา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
- พิชิต พงษ์สกุล และปรีดา พวกเพียร บก. 2535 คู่มือการปรับปรุงดินและการใช้ปุ๋ย. คณะกรรมการการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มกองทุน ศ.ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน กรุงเทพฯ
- ปิยะ ดวงพัตรา. 2538. หลักการและวิธีใช้ปุ๋ยเคมี ภาควิชาปฐพีวิทยา, คณะเกษตร, มหาวิทยาลัย เกษตรค้าสัตว์ กรุงเทพฯ
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2539. สถิติการเกษตร ปีเพาะปลูก 2537/2538.
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2542. สถิติการเกษตร ปีเพาะปลูก 2540/2541.
|