data-ad-format="autorelaxed">
ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์
ม.ธรรมศาสตร์ เผยโฉม ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์ ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในอนาคต ให้ผลผลิตมากกว่าข้าวหอมดอกมะลิเดิม 2 เท่า แถมต้นทุนต่ำ
ทีมนักวิจัยข้าว ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์ ภายหลังใช้เวลาการวิจัยมา 5 ปีเต็ม เพื่อปรับปรุงพันธุ์จากข้าวหอมดอกมะลิ 105 จนแก้ปัญหาความไวต่อแสงในการให้ดอก ซึ่งเป็นข้อจำกัดให้ข้าวหอมดอกมะลิ 105 เพาะปลูกได้เฉพาะนาปี เพราะออกดอกเพียงครั้งเดียวในเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในต้นเดือนธันวาคม ที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “ข้าวปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อ” ส่วนช่วงนาปรังชาวนาต้องเปลี่ยนมาปลูกข้าวหอมปทุมธานี 1 หรือข้าวสายพันธุ์อื่นซึ่งคุณภาพด้อยกว่า
ข้าวหอมธรรมศาสตร์ เพาะปลูกได้ทุกฤดู ยังคงความหอมนุ่ม ระดับโลก!
ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์ เพาะปลูกได้ทุกฤดู และยังรักษาคุณสมบัติ ความหอม-นุ่มระดับโลกเช่นเดิม ทำให้เกษตกรชาวนาสามารถผลิตข้าวระดับพรีเมียมตลอดปี
รศ.ดร.บุญหงษ์ จงคิด หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์ใช้ระยะเพาะปลูกจนเก็บเกี่ยวภายใน 100 วัน จากเดิมข้าวทั่วไปใช้เวลาประมาณ 120 วัน จึงทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการดูแลรักษาแปลงปลูก ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยต้นทุนให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายที่ลดลงอย่างชัดเจน
ข้าวหอมธรรมศาสตร์ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวน้อยลง
"เมล็ดพันธ์ุใช้ปริมาณน้อยลงเช่นกัน เปรียบเทียบจากปกตินาหว่านน้ำตม ชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ข้าวหอมธรรมศาสตร์ใช้มากสุด 12 กิโลกรัม หากเป็นนาดำปกติชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ 12-15 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวหอมธรรมศาสตร์ใช้เพียง 10 กิโลกรัมต่อไร่ แต่กลับได้ผลิตผลต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นถึง 900 กก. มากกว่าข้าวหอมดอกมะลิ 105 ที่ได้ผลผลิต 400-500 กก.ต่อไร่" รศ.ดร.บุญหงษ์กล่าว
ข้าวหอมธรรมศาสตร์ ต้นไม่สูง ทนทานต่อลมเป็นอีกจุดเด่น
จุดเด่นอีกข้อ คือ ลำต้นที่ความสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร มีความแข็งแรงทนทานต่อลม เก็บเกี่ยวได้ง่าย และทนทานต่อโรคและแมลงอีกด้วย เพราะหลังการทดสอบ พบว่าผลกระทบที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยน้อยและโรคกาบใบเน่า รวมถึงแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนกอ และหนอนใบม้วน น้อยกว่าแปลงปลูกข้าวหอมมะลิ 105 อย่างชัดเจน
ทั้งนี้หลังจากจดสิทธิบัตร จะเริ่มขยายพันธ์ุอย่างจริงจัง เพื่อทำแปลงทดลองขนาดใหญ่ให้ชาวนาเข้ามาศึกษา และพิสูจน์ ก่อนจะฝึกอบรมให้ความรู้ ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างมีคุณภาพ และยังเก็บผลผลิตส่วนหนึ่งเป็นเมล็ดพันธ์ุในรอบการผลิตถัดไป เพราะคุณสมบัติของพันธ์ุข้าวบริสุทธิ์ที่ไม่กลายพันธุ์
นายเชาว์วัช หนูทอง ผู้เชี่ยวชาญการปลูกข้าวแบบใหม่ เผยถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของพันธุ์ข้าวในอดีตสามารถเติบโตได้ในทุกพื้นที่ จึงทำการทดลองปลูกข้าวในพื้นที่แคบ โดยใช้เมล็ดพันธ์ุเพียง 1 เมล็ดต่อหลุม สามารถแตกกอได้ 30-50 ต้น ทำให้ได้ผลผลิตคุ้มค่า จึงนำไปทดลองในแปลงนาที่ผ่านการบำรุงอินทรีย์วัตถุในดิน พบว่าให้ผลผลิตได้ร้อยละ 5 ซึ่งแปลงนาทั่วไปที่ผ่านการทำลายหน้าดินสะสมจะได้เพียงร้อยละ 2
นักวิจัยระบุว่า อนาคตจะนำข้าวหอมธรรมศาสตร์ไปทดลองอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากทดลองมาสักระยะ ทำให้มั่นใจว่าผลผลิตจากการปลูกข้าวแบบใหม่โดยใช้เมล็ดพันธ์ุข้าวหอมธรรมศาสตร์จะได้ผลผลิตมากขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน โดยการพัฒนากระบวนการเพาะปลูกด้านการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในข้าวที่ผ่านการพัฒนาสายพันธ์ุมาแล้ว จะเป็นทางเลือกให้ชาวนาได้ผลิตข้าวคุณภาพระดับโลก ในปริมาณสูงได้ตลอดทั้งปี พร้อมกับขายในราคาตลาดที่ทั่วโลกต้องการ.
อ้างอิง thairath.co.th