data-ad-format="autorelaxed">
จัดทำยุทศาสตร์พืชเศรษกิจ 4 ชนิด
ตามที่คณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ เห็นชอบยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผมได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการเพิ่มพื้นที่การปลูกมันสำปะหลัง การปลูกอ้อยไปแล้ว ในตอนที่ 5 นี้ ผมจะขอวิพากษ์วิจารณ์ถึงยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก 7 ล้านไร่ เป็น 7.4 ล้านไร่ เพื่อเป็นข้อเสนอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในยุทธศาสตร์นี้นำไปพิจารณาดังนี้
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน การเพิ่มหรือลดลงของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะขึ้นอยู่กับราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 10 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2547/48 จนถึงปี 2556/57 พื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะแกว่งอยู่ที่ 6.5-7.0 ล้านไร่ หากปีใดราคาข้าวโพดดี เกษตรกรก็จะเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดโดยไปทดแทนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังหรือปลูกอ้อย ซึ่งพื้นที่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง แต่สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือ ประมาณ 4-5 ล้านไร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 2 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดตาก จังหวัดน่าน จะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่สูง พื้นที่ลาดชันจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตามในพื้นที่จำนวนดังกล่าว ผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีพันธุ์ข้าวโพดที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งและต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืชได้ดี จะมีจำหน่ายให้แก่เกษตรกรได้เลือกใช้อย่างมากมาย จากผลการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเอกชน ปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยจะอยู่ที่ประมาณ 700 กก./ไร่ ซึ่งสามารถที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อีก หากรัฐบาลให้ความสำคัญสนับสนุนการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกแต่ประการใด
สำหรับความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 4-4.5 ล้านตัน/ปี ในขณะที่ผลผลิตของประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 4.5-5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และยังมีเหลือเพื่อการส่งออก ซึ่งปกติประเทศไทยจะส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 2-5 แสนตัน
ดังนั้น การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันของประเทศไทย สามารถผลิตได้อย่างพอเพียงต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูกแต่ประการใด หากการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรขายได้ เนื่องจากมีผลผลิตออกมาเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาข้าวโพดตกต่ำ จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบกับพ่อค้า ผู้ประกอบอุตสาหกรรมโรงงานอาหารสัตว์มีความพยายามที่จะให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้ก็ไปส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และส่งมาจำหน่ายในประเทศเพราะราคาถูกกว่า) มีผลทำให้ราคาข้าวโพดภายในประเทศตกต่ำลง ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน การขยายพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลประโยชน์จึงตกอยู่กับนายทุนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ พ่อค้า ผู้ส่งออก ขณะที่เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย
ขณะที่ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ชนิด กำลังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อน ปรากฏว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจะให้สหกรณ์การเกษตรเข้ามารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 90,000 ตัน เพื่อนำมาแปรรูปขั้นต้นก่อนส่งออกจำหน่ายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่สหกรณ์ด้วย
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กำลังทำการเก็บเกี่ยว ผลผลิตข้าวโพดกำลังออกสู่ท้องตลาด ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้นฤดูอยู่ในเกณฑ์ดี ข้าวโพดที่มีความชื้นประมาณ 15% เกษตรกรจะขายได้ในกิโลกรัมละ 9 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ และหวังว่าราคานี้จะคงอยู่ไปจนถึงเดือนมกราคม 2558 ซึ่งเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้ทั้งหมด
ชาวไร่ข้าวโพดปลูกข้าวโพดมาตั้งแต่กลางปี มีความวิตกกังวลเรื่องดินฟ้าอากาศ การระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช แต่ในปีนี้สภาพดินฟ้าอากาศ ฝนตกตามฤดูกาล การระบาดของโรคแมลงศัตรูพืชมีน้อย ผลผลิตของข้าวโพดค่อนข้างจะดี ชาวไร่ข้าวโพดหวังว่าจะได้ลืมตาอ้าปาก หากขายข้าวโพดได้ในราคาที่สูงอย่างที่กำลังเป็นอยู่
แต่แล้วนโยบายที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2557 ในการที่จะให้สหกรณ์นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 90,000 ตัน มีผลต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรจำหน่ายในทันที ในขณะที่พ่อค้า นายทุนกำลังนั่งยิ้มอย่างมีความสุขภายใต้ความทุกข์ของเกษตรกร
ยุทธศาสตร์การขยายพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ กับนโยบายการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ถามว่าในที่สุด ทิศทางการเกษตรของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะไปในทิศทางใดกันแน่
ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย พวกท่านยังไม่มีจิตสำนึก ท่านยังมากำหนดนโยบายที่กำลังสร้างปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก ท่านรู้หรือไม่ว่า ท่านกำลังจะสร้างม็อบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายใต้นโยบายเช่นนี้
อนันต์ ดาโลดม
นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย
อ้างอิง tapioca.dft.go.th