data-ad-format="autorelaxed">
ผลิตน้ำมันดิบจากใบอ้อย คุณภาพเทียบเท่าน้ำมันจากแหล่งธรรมชาติ
ไทยจะเป็นประเทศแรกในโลก?
ทั้งที่บราซิล สหรัฐอเมริกา ขึ้นชื่อมีพื้นที่ ปลูกอ้อยมาก ไทยเทียบไม่ติดฝุ่น...แต่วันนี้ไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถนำใบอ้อยมา ผลิตเป็นน้ำมันดิบเทียบเท่าน้ำมันจากใต้พื้นพิภพ
ภาคอิสานมีใบอ้อยทิ้งมากกว่าปีละ 10 ล้านตัน!
“ภาคอีสานมีการปลูกอ้อยมาก แต่ละปีมีใบอ้อย เหลือทิ้งในไร่ประมาณ 10 ล้านตัน เป็นวัสดุทางการเกษตรที่แทบจะหาค่าไม่ได้ เนื่องจากใบอ้อยมีน้ำหนักเบาขนไปขายที่ไหนก็ได้ราคาไม่คุ้มค่าขนส่ง ชาวบ้านจึงมักเผาทิ้ง ทำให้สภาพแวดล้อมเสีย ผงเขม่าจากการเผายังสร้างความเดือดร้อนกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่จากการศึกษาข้อมูลเราพบว่า ใบอ้อยมีคุณสมบัติสามารถนำมาเป็นแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงได้ จึงได้ทำโครงการนำใบอ้อยมาทำเป็นเชื้อเพลิง”
ก่อนจะมาเป็นโครงการน้ำมันดิบจากใบอ้อย
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าถึงที่มาของโครงการนำใบอ้อยมาผลิตเป็นน้ำมันดิบ
แต่กว่าจะถึงวันนี้ โครงการเริ่มจากความคิดง่ายๆ นำใบอ้อยมาอัดเป็นก้อนฟ่อน ด้วยระบบไฮดรอลิก เพื่อนำไปขายให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ แต่ปรากฏว่า ทางโรงงานให้ราคารับซื้อตันละ 600 บาท เมื่อคำนวณต้นทุนทั้งหมดแล้ว ไม่คุ้มค่าขนส่ง เพราะพื้นที่ปลูกอยู่ห่างไกลจากแหล่งรับซื้อ
จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ นำใบอ้อยมาผลิตเป็นก๊าซชีวมวล ใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG โดยนำใบอ้อยอัดก้อน 1 กก. ใส่ลงเครื่องที่ออกแบบไว้ จะได้ก๊าซที่สามารถนำมาใช้ทดแทน LPG ทำอาหารได้ 1 ชม. แต่เมื่อนำไปให้กลุ่มผู้ทดลองรอบมหาวิทยาลัยใช้ในครัวเรือน ปรากฏว่าไม่มีใครชอบเพราะขั้นตอนการใช้งานยุ่งยาก ไม่สะดวกเหมือนใช้ก๊าซถัง
เลยต้องมาตั้งหลักคิดใหม่ สกัดใบอ้อยเป็นน้ำมัน ด้วยการสร้างเตาปฏิกรณ์ฟลูอิดไดซ์เบด ที่ใช้หลักการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเทคนิคการผลิต “ไพโรไลซิส” โดยใช้ลมร้อนเป่าผงทรายด้วยอุณหภูมิความร้อน 500 องศาเซลเซียส นำใบอ้อยที่บดเป็นผง 1 กก.เทใส่ปล่องเผาไหม้ 5 นาที จะได้ควันดำลอยผ่านจุดควบแน่น กลั่นตัวออกมา เป็น น้ำมันดิบสีดำ (ไบโอออยล์) และเมื่อนำน้ำมันที่ได้ไปผ่านกระบวนการกลั่นจะได้น้ำมันดีเซล 300 ซีซี สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ระบบดีเซลได้
แต่นี่เป็นผลที่ได้จากการทดลองเบื้องต้น เพื่อต่อยอดนวัตกรรมจากห้องแล็บให้สามารถนำไปใช้ได้จริง สำนักงานคณะ กรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนสร้างเตาปฏิกรณ์ฟลูอิดไดซ์เบดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อผลิตน้ำมันให้ได้เพียงพอสำหรับนำไปทดลองใช้ในเครื่องยนต์ระบบดีเซลต่อไป
thairath.co.th