data-ad-format="autorelaxed">
นวัตกรรมใหม่สำหรับชาวไร่อ้อย ทุนต่ำ-ลดแรงงาน-เพิ่มผลผลิต
ในบรรดาสินค้า 4 ชนิดจากประเทศไทย ที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอาจกีดกั้น อันเนื่องมาจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจากระดับ 2 มาเป็นระดับ 3 หรือเทียร์ 2 วอทช์ ลิสต์ (Tier 2 Watch List) ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ ค.ศ.2000 ของสหรัฐ มีสินค้าประเภทน้ำตาลอยู่ด้วย เนื่องจากพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กนั่นเอง
ล่าสุดกลุ่มมิตรผลประกาศเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ในการจัดการไร่อ้อยยุคใหม่ 'มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม' ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืนแล้ว โครงการนี้หากสมบูรณ์แบบตามเป้าหมายที่วางไว้ นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย กลุ่มมิตรผล ยืนยันว่าจะสามารถลดแรงงานคนถึง 3 หมื่นคน และอีก 5 ปีปัญหาการขาดแรงงานในไร่อ้อยจะหมดไป นั่นหมายถึงว่าแรงงานจะไม่มีอย่างแน่อนนอน
นายบรรเทิง บอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอ้อยและน้ำตาลในระดับภูมิภาค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรในตลาดโลกนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น ออสเตรเลีย และบราซิล ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการจะรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยไว้ได้ในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ สภาพอากาศ และวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยในประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนการทำไร่อ้อยไปสู่รูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจรและยั่งยืน ทำให้กลุ่มมิตรผลได้นำโครงการ "มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม" ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เกิดจากการศึกษาวิธีการทำไร่อ้อยในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในโลก จากนั้นจึงนำเทคนิคและความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยในประเทศไทย โดยเน้นองค์ประกอบที่สำคัญ 3 อย่างคือ อย่างแรกคัมภีร์ในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เป็นองค์ความรู้และทักษะการจัดการ ตั้งแต่การเตรียมแปลง ปรับปรุงดิน เตรียมดิน ปลูกอ้อย บำรุงรักษา เก็บเกี่ยว ไปจนถึงการส่งอ้อยเข้าหีบ ผสานกับการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนการทำไร่อ้อย
ในส่วนของคัมภีร์ในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย การปลูกพืชบำรุงดินโดยปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วพร้า เพราะพืชตระกูลถั่วสามารถดึงไนโตรเจนในอากาศลงมาเป็นปุ๋ยในดินได้ ลดการไถพรวนแบบเดิมมาไถพรวนเฉพาะบนร่องที่ยกขึ้นมาเท่านั้น ควบคุมแนววิ่งของรถ โดยกำหนดระยะปลูกอ้อยเป็น 1.85 เมตร และการทำแบบฟอร์ม ด้วยเครื่องมือยกร่องปลูกอ้อย ให้ดินมีลักษณะเป็นสันที่ความสูง 15-20 ซม. จากระดับการวิ่งของรถ และลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด การตัดอ้อยสดและปล่อยใบอ้อยไว้คลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นในดินไว้
มิตรผลไอรอนแมน
อย่างที่สองมิตรผลไอรอนแมน ซึ่งจะทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และให้คำแนะนำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงแนวทางมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้ง่ายและทั่วถึง และสุดท้ายคือ มิตรชาวไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวไร่อ้อยที่มีทักษะและองค์ความรู้ สามารถรวมกลุ่มกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อไป
"มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เราคาดว่าการจัดการไร่อ้อยในแบบใหม่นี้จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการทำไร่อ้อยได้ 100-300 บาทต่อตัน ภายในเวลา 5 ปี และเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะมีรายได้จากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นราวไร่ละ 2,000-4,000 บาท และอีก 5 ปีข้างหน้าหากโครงการขยายได้ตามเป้าหมายเราจะสามารถลดแรงงงานในไร่อ้อยได้ถึง 3 หมื่นคน" นายบรรเทิง กล่าว
ด้าน นายวันชนะ ศิษย์ครองวงศ์ เกษตรกรชาว ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี บอกว่า เริ่มปลูกอ้อยให้โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้างมาตั้งแต่ปี 2552 ในนามของคุณพ่อ และเปลี่ยนเป็นในนามของตัวเองในปีถัดมา (ปี 2553) หลังจากที่คุณพ่อเสียชีวิต ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 300 ไร่ และของลูกไร่ 100 ไร่ ในจำนวนนี้เข้าร่วมโครงการมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม 38 ไร่ เป้าหมายการผลิตในปี 2557/2558 ไว้ที่ 5,500 ตัน เนื่องจากพื้นที่อื่นสภาพของต้นอ้อยยังสมบูรณ์ สามารถปล่อยได้อีกรุ่นหนึ่ง แต่ฤดูการหน้าอาจขยายเพิ่มอีก 15-20% หากสามารถร่วมโครงการทั้งหมดคาดว่าจะได้ผลผลิตไร่ละ 14 ตัน จากเดิมได้ไร่ละ 10 ตัน
"จากการศึกษาและได้ไปดูงานที่ออสเตรเลีย ผมมั่นใจว่า การปลูกเป็นไปตามโครงการมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม จะทำให้มีโอกาสพักดินคือหยุดปลูก 1 ฤดูกาล แล้วปลูกถั่วเหลืองเพื่อบำรุงดิน นอกจากนี้จะทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้มากพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของการไถพรวน ซึ่งเดิมทำสะเปะสะปะ แต่แบบใหม่เครื่องจีพีเอส จะกำหนดที่ตายตัวและตามแนวร่องเดิมทั้งหมด ตอนนี้ผมลงทุนไป 2.5 แสนบาท ซื้ออุปกรณ์เพิ่มที่ผลิตในประเทศไทย มีลิปเปอร์สำหรับระเบิดดินด่าน เครื่องพรวนดิน และตัวปรับดิน หากลงทุนครบชุดจะสามารถลดแรงงานได้มากพอสมควร" นายวันชนะ กล่าว
ขณะที่ นายธีรชัย วัชราไทย เกษตรกรชาวไร่อ้อย ต.แจงงาม อ.ด่านช้างเช่นกัน บอกว่า มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 500 ไร่ และปลูกอ้อยส่งให้โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้างมาตั้งตั้งแต่ปี 2552 ล่าสุดตัดสินใจเข้าร่วมโครงการมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ตั้งเป้าการผลิตในปี 2557/2558 ไว้ว่าต้องได้ 8,000 ตัน ล่าสุดได้ลูกสาวมาช่วยดูแลการบริหารในการทำไร่ยุคใหม่อีกด้วย จึงมั่นใจว่าการทำไร่อ้อยหากมีเทคโนโลยีใหม่มาเสริมในการเพาะปลูก จะสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี และดีกว่าการทำนาด้วย เพราะการปลูกอ้อยมี พ.ร.บ.ควบคุม ต่างกับการทำนาที่ราคาข้าวผันผวนตลอดเวลา
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม นับเป็นนวัตกรรมใหม่ในการการจัดการไร่อ้อยยุคใหม่ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของชาวไร่อ้อย ที่เลือกแนวทางในการทำไร่อ้อยของตัวเองในอนาคต
อ้างอิง komchadluek.net