data-ad-format="autorelaxed">
เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ขาวบ้านนาให้มีความบริสุทธิ์ มีผลผลิตและคุณภาพเมล็ดดีกว่าพันธุ์พื้นเมืองเดิมที่เกษตรกรปลูก สามารถส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่นาข้าวขึ้นน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังลึกนำไปปลูกทดแทนพันธุ์พื้นเมืองเดิม หรือพันธุ์อื่นๆ ที่ด้อยกว่า และเพื่อใช้ในอุสาหกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าว
ประวัติ ข้าวเจ้าขาวบ้านนา 432
ข้าวเจ้าขาวบ้านนาสายพันธุ์ PCRC92001-432 เป็นข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์โดยการคัดเลือกแบบคัดสายพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) โดยในปี 2535 นายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล นักวิชาการเกษตร 6 กลุ่มพืชศาสตร์ ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ขณะนั้นได้เก็บคัดเลือกรวงข้าวพันธุ์ขาวบ้านนาจากแปลงนาของนายจรูญ ธรรมศรี เกษตรกรที่ทุ่งคลองสารภี หมู่ที่ 8 ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 500 รวง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ขาวบ้านนาและพันธุ์ขาวตาเพชร ประมาณ 100 ไร่ โดยพันธุ์ข้าวทั้งสองไม่มีความบริสุทธิ์เท่าที่ควร เพราะเกษตรกรใช้พันธุ์โดยการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกัน ในพื้นที่ ในปี 2537 ได้ปลูกคัดเลือกโดยทำการศึกษาพันธุ์เบื้องต้น ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี และนาเกษตรกร ตำบลเตยน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และตำบลวัดโบสถ์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี คัดเลือกได้สายพันธุ์ดีจำนวน 20 สายพันธุ์ ในระหว่างปี 2538-2540 ได้ดำเนินการปลูกข้าวสายพันธุ์ดีจำนวน 20 สายพันธุ์ เพื่อศึกษาพันธุ์ขั้นสูง โดยการปลูกแถวยาว 4 เมตร จำนวน 4 แถวต่อสายพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี และนาเกษตรกร อำเภอเมือง และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก รวมเป็น 4 แปลงต่อปี จนคัดเลือกได้สายพันธุ์ดี โดยพิจารณาจากลักษณะทรงต้น อายุเก็บเกี่ยว เสถียรภาพการให้ผลผลิต และคุณภาพเมล็ดที่ดีกว่าข้าวน้ำขึ้นพันธุ์ขาวบ้านนาพื้นเมืองที่เกษตรกรใช้ปลูกได้ จำนวน 7 สายพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี และในระหว่างปี 2544-2548 ได้วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายและเคมี ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี และศึกษาการตอบสนองต่ออัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีและนาเกษตรกร อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ในปี 2548 ได้ทดสอบความสามารถในการขึ้นน้ำที่ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีอยุธยา ในปี 2551 ได้ศึกษาระยะพักตัวของเมล็ด ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะทางการเกษตร ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ในระหว่างปี 2551-2553 ได้ดำเนินการทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศตรูข้าวที่สำคัญ ที่กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ในปี 2554 ได้ดำเนินการทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคไหม้ ปลูกทดสอบยืนยันผลความสามารถในการขึ้นน้ำและผลิตเมล็ดพันธุ์ดัก ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี และประเมินการยอมรับของเกษตรกรโดยการปลูกทดสอบและประเมินการยอมรับของชาวนาข้าวขึ้นน้ำในเขตอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี จนสามารถคัดเลือกได้ข้าวขาวบ้านนาสายพันธุ์ดีเด่น “PCRC92001-432” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง กล่าวคือ มีความสามารถในการให้ผลผลิตที่ดีเหนือกว่าพันธุ์พลายงามปราจีนบุรี มีอายุออกดอก ประมาณวันที่ 12 พฤศจิกายน เหมาะสมกับการลดลงของระดับน้ำ และเก็บเกี่ยวได้พอดีกับการแห้งของน้ำในนา ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญสอดคล้องกับผลการประเมินความชอบข้าวขาวบ้านนาสายพันธุ์ PCRC92001-432 ของเกษตรกรในปี 2554 ที่ชอบเนื่องจากมีความเหมาะสมกับทั้งการเจริญเติบโต การขึ้นน้ำ และในช่วงวันเวลาการเก็บเกี่ยวข้าว ด้วยลักษณะที่ดีดังกล่าวทำให้ข้าวขาวบ้านนาสายพันธุ์ PCRC92001-432 สามารถนำไปสู่การขยายผลในโครงการการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำขาวบ้านนาสู้วิกฤตอุทกภัยในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีในฤดูนาปี 2555 ข้าวขาวบ้านนาสายพันธุ์ PCRC92001-432 เป็นข้าวที่มีปริมาณอมิโลสสูง (28.9 เปอร์เซ็นต์) สามารถนำไปแปลรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเส้น คือ เส้นหมี่หรือเส้นขนมจีนได้ดีมาก ผลิตภัณฑ์เส้นที่ได้มีความเหนียวนุ่มมากกว่าผลิตภัณฑ์เส้นทั่วไปในท้องตลาด จึงเป็นที่ต้องการของตลาดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นและได้ดำเนินการทดสอบคุณภาพเส้นหมี่และเส้นขนมจีน โดนศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี
ลักษณะประจำพันธุ์
เป็นข้าวเจ้าขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง ออกดอกประมาณวันที่ 10 ถึง 14 พฤศจิกายน ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับน้ำ 50-300 เซนติเมตร มีความสามารถขึ้นน้ำได้ดีกว่าพันธุ์ กข19 แต่น้อยกว่าพันธุ์ปิ่นแก้ว 56 ลำต้นสูงประมาณ 218 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ) ทรงกอแบะ ต้นแข็งปานกลาง มีใบ กาบใบและปล้องสีเขียว ใบธงเป็นแนวนอน รวงยาว 32 เซนติเมตร เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียว ยาว 8.01 มิลลิเมตร กว้าง 2.33 มิลลิเมตร และหนา 1.93 มิลลิเมตร ข้าวเปลือก 1000 เมล็ด หนัก 30.1 กรัม น้ำหนักข้าวเปลือก 11 กิโลกรัมต่อถัง คุณภาพการสีดี ท้องไข่มาก มีปริมาณอมิโลสสูง (28.9 เปอร์เซ็นต์) ความคงของแป้งสุกปานกลาง (48 มิลลิเมตร) อุณหภูมิแป้งสุกปานกลาง อัตราการยืดตัวของข้าวสุก 1.66 เท่า ข้าวสุกไม่หอม สีข้าวนวล มีความเลื่อมมันเล็กน้อย การเกาะตัวข้าวสุกมีลักษณะไม่เหนียว-ไม่ร่วนและเนื้อสัมผัสค่อนข้างนุ่ม ผลผลิตเฉลี่ย 449 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 9 สัปดาห์
ลักษณะเด่นของ ข้าวจ้าวขาวบ้านนา 432
เป็นข้าวขึ้นน้ำ ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 449 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์พลายงามปราจีนบุรี ร้อยละ 35 (333 กิโลกรัมต่อไร่)
สามารถขึ้นน้ำและปลูกได้ดีในนาน้ำลึกที่มีระดับน้ำมากกว่า 100 เซนติเมตร และเป็นช่วงเก็บเกี่ยวประมาณวันที่ 10-14 ธันวาคม จึงเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
เมล็ดข้าวมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้น ได้แก่ เส้นหมี่และเส้นขนมจีน โดยที่เส้นหมี่ละเส้นขนมจีนที่ผลิตได้ดีในลักษณะเหนียวนุ่ม
พื้นที่แนะนำ
พื้นที่นาน้ำลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร มีน้ำท่วมขังนานกว่า 1 เดือน และมีช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนธันวาคม จึงเหมาะสมกับพื้นที่น้ำลึกในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ข้าวนาขึ้นน้ำ อำเภอบ้านสร้างและอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอปากพลีและอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
ข้อควรระวังสำหรับการปลูกข้าวเจ้าขาว พันธุ์บ้านนา 432
อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคขอบใบแห้งในสภาพเรือนทดลอง
อ้างอิง brrd.in.th