data-ad-format="autorelaxed">
ภาวะรายจ่ายที่นับวันเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับรายรับที่ยังคงเท่าเดิม ส่งผลให้การใช้ชีวิตของคนหลายคนลำบาก ดัง บ้านบ่อพยอม หมู่ 13 ต.หนองกรด อ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งมีประชากร 160 หลังคาเรือน มีผู้คนอาศัย 576 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำนา ปลูกพืชผัก ส่วนหนึ่งออกไปรับจ้างขายแรงงาน ทว่า ชาวบ้านที่นี่พบวิธีลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน แถมยังผลิตได้มากนำออกไปขายมีรายได้ไว้ต่อยอดเป็นทุนไว้ขยายกิจการอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต
นางดุษฎี ศรีวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 บ้านบ่อพยอม เล่าว่าเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมตัวกันกว่า 30 หลังคาเรือน ร่วมโครงการ "ชุมชนท้องถิ่นที่น่าอยู่” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หันมาลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ร่วมกันสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการเพาะเห็ด ทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ เผาถ่านจากเศษไม้ แล้วนำน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากกระบวนการเผาถ่านไปใช้ป้องกันแมลงในไร่นาและสวนครัว จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จนมีเงินของกลุ่มเหลือพอที่จะทำโครงการเพื่อชุมชนต่อไป
“ตอนแรกมีกัน 6-7 คน เริ่มจากสมาชิก อสม. มีการประชุมกันทุกเดือน พร้อมได้เชิญชวนผู้ที่สนใจทางหอกระจายข่าว ชาวบ้านที่สนใจก็ชวนกันมา จนตอนนี้มีสมาชิกกว่า 30 หลังคาเรือน มาคุยกันว่าจะทำอะไร ได้ข้อสรุปว่า ทำโรงเห็ดไว้แจกจ่ายสมาชิก เมื่อผลผลิตเหลือก็นำออกขาย นอกจากนี้ ทำเตาเผาถ่านเอาน้ำส้มควันไม้ ทำน้ำหมักไว้ใช้กับสวนกับนา ทำปุ๋ยหมักแจกจ่ายคนในกลุ่มนำไปใช้” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 เล่าถึงกิจกรรมที่ร่วมกันทำ
ผู้นำหญิงแห่งบ้านบ่อพยอม บอกด้วยว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้านที่คุ้นชินกับการทำการเกษตรแบบใช้ปุ๋ยเคมี และการใช้เงินในการซื้อของบริโภค แต่ก็ทำความเข้าใจทดลองทำและเห็นผล ทั้งการเพาะเห็ดซึ่งไปเรียนรู้ดูงานมาจากที่อื่นนำมาอบรมในกลุ่มช่วยกันทำ สร้างโรงเห็ดซื้อก้อนเห็ดเข้ามาเพาะเลี้ยง ช่วยกันดูแล และยังขยายผลนำครูและนักเรียนจาก ร.ร.บ้านสามัคคีธรรม เข้ามามีส่วนร่วม สลับรุ่นกันมา และนำก้อนเห็ดไปดูแลที่โรงเห็ดของโรงเรียน เพื่อใช้เป็นอาหารกลางวัน สร้างความสัมพันธ์กับโรงเรียนอีกด้วย
ผลผลิตเห็ดที่ชาวบ้านเพาะเป็นเห็ดนางฟ้า ลงทุนครั้งแรก 7,000-8,000 บาท เมื่อได้ผลผลิตก็จะแบ่งสมาชิกเอาไปบริโภคในครัวเรือน ส่วนหนึ่งนำบรรจุถุงไปขายที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ส่วนหนึ่งนำออกขายในหมู่บ้านกล่องละ 20 บาทหมดทุกวัน ตลอดระยะเวลาที่มีผลผลิต 4 เดือน ปัจจุบันได้ขยายโรงเห็ดออกเป็น 2 โรง จำหน่ายเห็ดมีกำไรเดือนละประมาณ 10,000 บาท เงินที่ได้ก็จะเก็บไว้สำหรับดูงานเพิ่มความรู้ให้กับสมาชิก และเป็นทุนสำหรับทำโรงสีข้าวของหมู่บ้าน
“ปัจจุบันหมู่บ้านไปจ้างเขาสีข้าว พวกเราทำนากันทุกบ้าน ก็เลยตกลงกันว่าจะเอาเงินที่สะสมได้จากการขายเห็ดมาทำโรงสีข้าว ให้สมาชิกเอามาสี จะได้มีข้าวกล้องไว้กิน ไม่ต้องไปเสียเงินให้โรงสี เรามาคำนวณดูแล้วว่ามีศักยภาพที่ทำได้แน่นอน” นางดุษฎี แจงอย่างมั่นใจ
พร้อมกล่าวเสริมว่า เมื่อชุมชนร่วมกันทำกิจกรรมหลายๆ อย่างจึงเกิดผลดีตามมา ทั้งสมาชิกนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ไล่แมลงในไร่นา ฉีดพ่นในข้าวทำให้ต้นข้าวแข็งแรง นำไปปรับสภาพพื้นดินป้องกันเชื้อราในโรงเห็ด ได้ถ่านแบ่งกันใช้ มีปุ๋ยหมักไว้แบ่งปัน ลดการใช้ยาและปุ๋ยเคมี ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงจากที่เคยทำนาต้นทุนไร่ละ 1,000 บาท เหลือเพียงไร่ละ 500 บาท ที่สำคัญคือการสร้างประชาคมที่เหนียวแน่นเข้มแข็ง จนได้รับรางวัลกรรมการหมู่บ้านดีเด่นจากทางอำเภอ ได้รับการสนับสนุนทุนในการทำกิจกรรมเดือนละ 1,000 บาท
อ้างอิง : komchadluek.net