data-ad-format="autorelaxed">
การป้องกันกำจัดหนอนกออ้อย
การเข้าทำลาย
หนอนกออ้อยมี 5 ชนิด พบหนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู อยู่คละกันและเข้าทำลายอ้อยในระยะแตกกอ สำหรับหนอนกอลายจุดใหญ่ พบระบาดรุนแรงมากในระยะอ้อยเป็นลำ ส่วนหนอนกอลายใหญ่ พบปริมาณน้อยในทุกระยะการเจริญเติบโตของอ้อย
ในแหล่งที่มีการระบาดของหนอนกออ้อยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรต้องสำรวจการทำลายของแมลงชนิดนี้อย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก
การเตรียมท่อนพันธุ์
1. หลีกเลี่ยงการใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของหนอนกอลายจุดใหญ่
2. หากจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์ในข้อ 1 ให้เกษตรกร ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
- แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำปูนขาว อัตรา 500 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 7 ชั่วโมง
- แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำธรรมดา นาน 25 ชั่วโมง
- แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง
โดยต้องแช่ท่อนพันธุ์อ้อยให้จมอยู่ใต้น้ำ
ระยะอ้อยแตกกอ (อ้อยอายุ 1-4 เดือน)
ในสภาพแห้งแล้ง จะพบหนอนกอลสยจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู ระบาดทำลายทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยตอเป็นจำนวนมาก ซึ่งในระยะนี้ หนอนกอลายจุดใหญ่จะพักตัวอยู่ภายในโคนต้นอ้อยใต้ดิน
ถ้าสำรวจพบหน่ออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวเนื่องจากการทำลาย จำนวน 1-2 ยอดต่อไร่ หรือพบกลุ่มไข่ 1-2 กลุ่มต่อไร่ แนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดังนี้
1. ปล่อยแตนเบียนไข่ทริโคแกรมมา อัตรา 20,000 ตัวต่อไร่ต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน 8 ครั้ง
2. ตัดหน่ออ้อยที่แสดงอาการยอดเหี่ยวให้ถึงโคนต้น แล้วรวบรวมเผาทำลาย
3. พ่นเชื้อแบคทีเรียบีที ในเวลาเย็น อัตรา 100 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อทำลายหนอนวัย 1-3 (ความยาวหนอน 0.3-0.8 เซนติเมตร) ก่อนที่หนอนจะเจาะเข้าทำลายหน่ออ้อย
ระยะอ้อยเป็นลำ (อ้อยอายุ 5-12 เดือน)
เป็นระยะที่อันตรายมากที่สุด เพราะหนอนกอลายจุดใหญ่จะออกจากระยะพักตัว กินอาหาร เข้าดักแด้ ออกเป็นผีเสื้อ และวางไข่บนต้นอ้อยเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
ถ้าสำรวจพบต้นอ้อยถูกทำลาย โดยสังเกตจากมูลหนอนที่มีสีขาว หรือสีน้ำตาล บริเวณอ้อยปล้องที่ 2-3 จากยอด หรือขอบใบอ้อยเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดังนี้
1. ตัดยอดอ้อยต่ำกว่าบริเวณที่พบมูลหนอน รวบรวมทำลายโดยนำไปแช่น้ำธรรมดา นาน 25 ชั่วโมง
2. ปล่อยแตนเบียนไข่ทริโคแกรมมา อัตรา 20,000 ตัวต่อไร่ต่อสัปดาห์ ติดต่อกันก่อนตัด อ้อย 1 สัปดาห์
3. ปล่อยแตนเบียนหนอนโคทีเซีย อัตรา 500-1,000 ตัวต่อไร่ต่อสัปดาห์ ตลอดฤดูปลูก
4. พ่นเชื้อแบคทีเรียบีที ในเวลาเย็น อัตรา 100 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อทำลายหนอนที่เพิ่ง ฟักออกจากไข่
ระยะตัดอ้อยเข้าโรงงาน
แนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดังนี้
1. ห้ามเผาใบอ้อยก่อนและหลังตัดอ้อยเข้าโรงงานเพราะ
- เป็นการทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแตนเบียนไข่ทริโคแกรมมา และแตนเบียนหนอนโคทีเซีย ที่ปล่อยไป
- เป็นสาเหตุการระบาดของหนอนกอลายจุดเล็ก ในฤดูปลูกต่อไป
- เป็นการทำลายความชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของดิน
2. ถ้าปลูกอ้อยใหม่
- ไถตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์
- เก็บรวบรวมกออ้อยที่ถูกทำลายเผาทิ้ง
- เตรียมท่อนพันธุ์อ้อยตามคำแนะนำ
- ควรปลูกอ้อยพันธุ์ที่มีความทนทานต่อการทำลาย เช่น เอฟ 156 อู่ทอง 1 เค 84-200 เป็นต้น
3. ถ้าไว้ตออ้อย
- เมื่อสำรวจพบรอยทำลายของหนอนกอลายจุดใหญ่ที่ตออ้อย ประมาณ 10% ของลำ ให้ปล่อยแตนเบียนหนอนโคทีเซีย อัตรา 500-1,000 ตัวต่อไร่ต่อสัปดาห์
- ถ้าพบตออ้อยถูกทำลายมากกว่า 50% ของลำ แนะนำให้ปลูกอ้อยใหม่ และรวบรวมตออ้อยที่ถูกทำลายเผาทิ้ง
อ้างอิง agriqua.doae.go.th