data-ad-format="autorelaxed">
ไหมอีรี่ ไหมพันธุ์ใหม่ กินใบมันสำปะหลัง
ไหมอีรี่ (Samia ricini : Eri silk) เป็นไหมพันธุ์ใหม่กินใบมันสำปะหลัง ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อเอาเส้นใยเช่นเดียวกับไหมหม่อน โดยไหมอีรี่เป็นไหมป่าที่มีวงจรชีวิต 45-60 วัน เลี้ยงได้ 4-5 รุ่นต่อปี ไข่ไหมฟักเองได้ไม่ต้องอาศัยการฟักเทียม กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร เนื่องจากประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนมากที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพ โดยปกติใบมันสำปะหลังเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร การเลี้ยงไหมอีรี่จึงเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจสำหรับชาวไร่มันสำปะหลัง เป็นการสร้างรายได้พิเศษ สร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งเส้นใยไหมที่ได้เป็นชนิดใยสั้น มีเนื้อฟู หนานุ่ม และหยิกงอ เหมาะแก่การทำไหมปั่น ทอเป็นผ้าผืน หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถนำมาย้อมติดสีธรรมชาติได้ดี ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และสภาพแวดล้อม สามารถปั่นออกเส้นใยได้ด้วยเครื่องปั่นมือ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม เปิดทางเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอและขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้
ณ บ้านทัพคล้าย ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยา เขตกำแพงแสน และศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน สถาบันวิจัยวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียง ใหม่ เปิด “แหล่งเรียนรู้การผลิตไหมอีรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทัพคล้าย” นำร่องเป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านไหมอีรี่ครบวงจรแก่เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ในภาคเหนือ ตั้งแต่การเลี้ยง การลอกกาว การปั่นไหม การทอผ้า และการตลาด
ศ.ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า สกว. และ ม.เกษตรศาสตร์ เห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสะอาดกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมอีรี่ เพราะนับวันทั่วโลกตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ทำให้กระบวนการผลิตไหมอีรี่ทั้งกระบวนการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ทำงานร่วมกับศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ จนนำมาสู่การพิจารณาคัดเลือกบ้านทัพคล้าย จ.อุทัยธานี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้โครงการนำร่องด้านการใช้เทคโนโลยีสะอาด เนื่องจากบ้านทัพคล้ายเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมสูง มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่มากพอสมควร และเป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงที่เข้มแข็ง ตลอดจนเกษตรกรเครือข่ายมีกิจกรรมด้านการลอกกาว ย้อมสี ปั่นเส้น และทอผ้าอย่างครบวงจร โดยแหล่งเรียนรู้นี้จะเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยง การผลิต และการส่งเสริมให้เกษตรกรเครือข่ายทุกเครือข่ายเข้าถึงหลักการและวิธีการของเทคโนโลยีสะอาด เพื่อเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นอื่น ๆ จะได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการผลิตไหมอีรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป
แนวทางการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ของ สกว. ไม่ได้จำกัดเพียงให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่สามารถปลูกได้ เลี้ยงได้เท่านั้น กลับกันจะสนับสนุนอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรผู้เลี้ยงไหมอีรี่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่การพัฒนาระบบผลิต ระบบราคาและผลตอบแทน ระบบการทำเทคโนโลยีสะอาด และระบบการจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สีเขียว เป็นต้น ซึ่งการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวนับเป็นปัจจัยที่ชี้ความสำเร็จของการเลี้ยงไหมอีรี่ต่อโอกาสทางการตลาด เพราะการให้ความรู้ที่ครบถ้วนทั้งกระบวนการ ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและบริษัทสิ่งทอในการรับรังไหมไปผลิตและทอผ้า นับเป็นการเติมเต็มความรู้และการตลาดให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกัน เป็นไปตามเป้าหมายที่ สกว. ต้องการคือ การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และการพึ่งพาตนเอง
ส่วนศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้านหรือฝ้ายแกมไหม ภายใต้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ ทำหน้าที่เชื่อมโยงประสานวิชาการด้านสิ่งทอจากมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยว ชาญสู่กลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอในภาคเหนือ ดังเช่นการส่งเสริมการเลี้ยงและการผลิตไหมอีรี่ที่เป็นความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ม.เกษตร ศาสตร์ วิทยาเขตกำแพง แสน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สกว. ม.เกษตรศาสตร์ และ ม.เชียงใหม่ มาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอได้มีไหมอีรี่เป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ถักทอเพิ่มอีกชนิดหนึ่ง พร้อมได้สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุธรรมชาติในการผลิต หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสีย้อมที่เป็นอันตราย
... รวมถึงไม่ปล่อยของเสียจากการผลิตออกสู่ธรรมชาติและชุมชน เพี่อให้ได้ผลผลิตไหมอีรี่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามความต้องการของตลาดปัจจุบัน และเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ให้มีความพิเศษกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป.
ข้อมูลจาก : dailynews.co.th