data-ad-format="autorelaxed">
เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการปลูกมะม่วงในโรงเรือนที่เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เกาะโอกินาวาน่าจะเป็นแหล่งผลิตเกษตรกรรมที่สำคัญเพื่อส่งขายทั่วทุกเกาะในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะมะม่วง เกษตรกรชาวสวนมะม่วงหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าญี่ปุ่นสามารถปลูกและผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพดีได้ แต่เมื่อได้ไปดูงานและเห็นของจริงทำให้ได้ทราบถึงเทคโนโลยีของการปลูกมะม่วงมีความก้าวหน้าไปมาก จริงอยู่เกาะโอกินาวาซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ทางใต้สุดของญี่ปุ่นอยู่ใกล้เกาะไต้หวันไม่มีหิมะตก แต่ในช่วงฤดูหนาวก็มีอากาศที่หนาวเย็นมาก แต่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในโรงเรือนสามารถผลิตมะม่วงส่งขายภายในประเทศได้ถึงกิโลกรัมละประมาณ 1,000 บาท ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่าถึงรายละเอียดของเทคโนโลยีเหล่านี้ในโอกาสต่อไป
กลับมาที่บ้านเราปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยเกรดเอมีการส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่นโดยสามารถขายจากสวนได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-100 บาท ราคาถูกแพงขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลผลิตว่าผลผลิตมีมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร จะว่าไปแล้วชาวสวนมะม่วงไทยได้มีการขยายพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองกันมากขึ้นเนื่องจากสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้นั่นเอง
สำหรับภาพรวมของการทำสวนผลไม้ของไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับการคัดเลือกปลูกไม้ผลที่มีราคาดีในปัจจุบันไม่มีการวิเคราะห์เรื่องการตลาดล่วงหน้าว่าผลไม้แต่ละชนิดจะมีอนาคตเป็นเช่นไรมีตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในไม้ผลหลายชนิด อาทิ มีชาวสวนทุเรียนระยองและจันทบุรี ได้โค่นพื้นที่ปลูกทุเรียนไปปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก สุดท้ายเมื่อยางพารามีปัญหาในขณะที่ราคาทุเรียนมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้เกิดมีการโค่นยางพาราหันกลับมาปลูกทุเรียนกันอีกส้มโชกุนหรือส้มสายน้ำผึ้งก็เช่นกัน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตเหลือน้อยมากราคาถึงผู้บริโภคตาม
ซูเปอร์มาร์เกต ของห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ของบ้านเราขายส้มโชกุนหรือส้มสายน้ำผึ้งได้ถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาท อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่ส้มมีราคาแพงที่สุดเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ช่วงหนึ่งจะมีส้มจีนผลจิ๋วจากประเทศจีนส่งมาขายตีตลาดก็ตามสำหรับทางเลือกของชาวสวนสมัยใหม่และมีหัวก้าวหน้าการตัดสินใจในการปลูกไม้ผลจะต้องมีการวิเคราะห์เรื่องการตลาดและพัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมกันรวมถึงผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพออกจำหน่าย ในส่วนของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร โทร. 08-1886-7398 ได้พยายามนำเสนอข้อมูลไม้ผลแปลกและหายากที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง รวมถึงการนำพันธุ์พืชจากต่างประเทศมาพัฒนาและทดลองปลูกจนแน่ใจว่าปลูกได้ในบ้านเรา อาทิ ฟักยักษ์ ได้มีการทดลองปลูกมาแล้ว 4-5 รุ่น จนแน่ใจแล้วว่าปลูกได้ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 25-30 กิโลกรัม นำมาบริโภคได้เหมือนฟักบ้านเรา รสชาติหวานกว่า ในกลุ่มมะม่วงก็เช่นกันคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับมะม่วงไต้หวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์จินหวง, พันธุ์อี้เหวิน เบอร์ 6, พันธุ์ T 1 และพันธุ์งาช้างแดง เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นมะม่วงผลใหญ่มีน้ำหนักผลเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ในกลุ่มของชมพู่ก็เช่นกันหลังจากหมดยุคชมพู่พันธุ์ทับทิมจันทร์ ทางชมรมฯได้นำพันธุ์ชมพู่ยักษ์จากไต้หวันมาปลูกได้น้ำหนักผลเฉลี่ย 3-4 ผลต่อกิโลกรัม และพันธุ์ใหม่ล่าสุดคือพันธุ์สตรอเบอรี่ซึ่งมีลักษณะผลใหญ่และมีสีแดงสดคล้ายกับพันธุ์ทับทิมจันทร์ แต่แตกต่างกันตรงลักษณะใบของชมพู่สตรอเบอรี่มีขนาดใหญ่มากและรสชาติหวานเนื้อไม่แข็งมากที่สำคัญมีรสติดเปรี้ยวคล้ายสตรอเบอรี่ซึ่งเริ่มติดผลแล้วและจะนำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไปเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลูกชมพู่ในอนาคต
ในอนาคตการปลูกมันเทศในประเทศไทยจะต้องมีการปฏิวัติการปลูกในเชิงพาณิชย์กันขนานใหญ่ด้วยคนไทยเริ่มให้ความสนใจในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น จากเดิมคนไทยจะคุ้นเคยกับมันเทศดั้งเดิมของไทยที่มีเนื้อสีขาว สีเหลือง (อ่อน) และมันต่อเผือกที่มีสีม่วงแจมในเนื้อสีขาว คนไทยจะได้บริโภคมันเทศเนื้อสีม่วงเข้มจากเกาะโอกินาวาที่อุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานินซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจ มันเทศเนื้อสีเหลืองและเนื้อสีส้ม
จากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีรสชาติทั้งหวาน เนื้อเนียนและมีสารเบต้าแคโรทีนสูงมากจะลดการนำเข้ามันเทศมาจากญี่ปุ่นซึ่งในขณะนี้ยังมีราคาขายถึงผู้บริโภคสูงมาก บางสายพันธุ์ขายถึงผู้บริโภคสูงถึงกิโลกรัมละ 1,400 บาท เกษตรกรไทยควรที่ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพดหรือมันสำปะหลังควรแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศดังกล่าว เพียงแต่มีการจัดการระบบน้ำที่ดีและมีการปรับปรุงโครงสร้างดินให้เหมาะสมและมีปริมาณอินทรียวัตถุสูง ๆ ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่เหมาะต่อผู้สูงอายุปลูกและพื้นที่ทำการเกษตรไม่มากนัก ตัวอย่างเกษตรกรในญี่ปุ่นที่ผู้สูงอายุเกษียณจากงานจะปลูกมะเดื่อฝรั่งเพราะเป็นไม้ผลที่ใช้สารเคมีไม่มากนัก เป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตเร็วและปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่ามะเดื่อฝรั่งปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ราบและมีสภาพอากาศร้อนก็ตามเพียงแต่มีการจัดการที่ดีและเลือกพันธุ์ปลูกที่มีความเหมาะสม เช่น พันธุ์ญี่ปุ่น, พันธุ์บราวน์ตุรกี ฯลฯ
สิ่งที่ผู้เขียนยังเป็นห่วงสำหรับการทำสวนผลไม้ของเกษตรกรไทยในอนาคตจะยังวนเวียนอยู่กับปัญหาเก่า ๆ เช่น ผลไม้ผลิตออกมาแล้วล้นตลาดมีการเดินขบวนเพื่อให้รัฐบาลประกันราคาหรือประกันการรับซื้อ หรือแม้แต่การโซนนิ่งพื้นที่ปลูกไม้ผล หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องได้มองแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้แบบยั่งยืนอย่างไรในอนาคต การสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มชาวสวนผลไม้เป็นเรื่องที่ยังมีความสำคัญ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีปัจจุบันกลุ่มชาวสวนผลไม้หลายกลุ่มที่มีการจัดตั้งเป็นชมรมฯบ้างเป็นสมาคมบ้าง ยังพบว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของตนเองตัวอย่างที่เห็นชัดเจนอย่างเช่นบริษัทส่งออกมะม่วงได้โควตามะม่วงเกรดเอเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่น ทางสมาคมหรือชมรมฯไม่มีการจัดสรรหรือแบ่งโควตาให้กับชาวสวนแบบเป็นธรรม
ทั้ง ๆ ที่ชาวสวนเหล่านั้นสามารถผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เกรดเอได้เช่นกันและผ่านมาตรฐาน GAP (เกษตรดีที่เหมาะสม)เนื่องในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2557 ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้เกษตรกรไทยทุกท่าน ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรมของท่านและมีความสุขตลอดไป.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ข้อมูลจาก : dailynews.co.th