data-ad-format="autorelaxed">
ถึงแม้ ประเทศไทย จะมีศักยภาพการผลิต ’อ้อย“ สูง และมีโรงงานผลิตน้ำตาลที่ทันสมัยระดับโลก แต่ปัจจุบันผลผลิตอ้อยของไทยยังค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยประมาณ 11.26 ตันต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง บราซิลที่ได้ผลผลิต 12.67 ตันต่อไร่ และ ออสเตรเลีย 12.43 ตันต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร สุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุง พันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่ สำเร็จเพิ่มอีก 2 พันธุ์ มี จุดเด่น ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงทั้งน้ำหนักและน้ำตาล คาดว่า น่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรที่จะใช้อ้อยพันธุ์ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น
นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อ้อยพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ปรับปรุงพันธุ์ประสบผลสำเร็จและ คณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ได้พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์แนะนำในปี 2556 นี้ มี 2 พันธุ์ ได้แก่ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 (U-Thong 84-12) และ พันธุ์อู่ทอง 84-13 (U-Thong 84-13) ถือเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำหนักและผลผลิตน้ำตาลสูง สำหรับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 เดิมชื่อ อ้อยโคลน 02-2-477 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์แม่สุพรรณบุรี 80 กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2545 จากนั้นได้ปลูกเปรียบเทียบเบื้องต้น และปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน แล้วปลูกทดสอบในไร่เกษตรกรพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรีด้วย
อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 มีลักษณะเด่น คือ ปลูกในเขตชลประทาน หรือเขตที่มีน้ำเสริม ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 16.92 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 19 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 20 หากเกษตรกรมีระบบการจัดการที่ดีจะให้ผลผลิตสูงถึง 20-25 ตันต่อไร่ นอกจากนั้น อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 ยังให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.40 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 17 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 24 และให้ความหวาน เฉลี่ย 14.21 ซีซีเอส
ส่วนอ้อย พันธุ์อู่ทอง 84-13 เดิมชื่อ อ้อยโคลน 03-2-287 เป็นลูกผสมย้อนกลับชั่วที่ 3 ของ Saccharum spontaneum กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 8 มีลักษณะเด่น คือ ปลูกในเขตใช้น้ำฝน ให้น้ำหนักเฉลี่ย 14.30 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 34 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 45 ขณะที่ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.99 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 32 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 42 อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการปลูกอ้อยพันธุ์นี้ในพื้นที่ที่น้ำขังและน้ำมาก เพราะเจริญเติบโตเร็วมาก จะทำให้ล้มและไม่ควรปลูกในแหล่งที่มีประวัติโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำระบาด
จากการทดสอบความพึงพอใจของเกษตรกรต่ออ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 และพันธุ์อู่ทอง 84-13 พบว่า เกษตรกรพึงพอใจมาก ขณะนี้ชาวไร่อ้อยในหลายพื้นที่เริ่มใช้อ้อยพันธุ์ใหม่ทั้งสองพันธุ์ไปปลูกแล้ว อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และบางจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันโรงงานผลิตน้ำตาล หลายแห่งยังพึงพอใจในคุณภาพของอ้อยพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเครือข่ายปลูกเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงานด้วย
กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี เร่งเตรียมท่อนพันธุ์เพื่อรองรับความต้องการของชาวไร่อ้อยที่สนใจใช้พันธุ์ โดยศูนย์ฯได้ขยายแปลงผลิตพันธุ์อ้อยอู่ทอง 84-12 และอ้อยอู่ทอง 84-13 รวมประมาณ 20 ไร่ สามารถใช้ปลูกขยายได้กว่า 200 ไร่ กำหนดราคาจำหน่ายท่อนพันธุ์ ลำละ 1 บาท (ประมาณ 4-5 ท่อน) ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้พันธุ์ไปปลูกเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงานน้ำตาลได้
อย่างไรก็ตาม หากสนใจอ้อยพันธุ์ใหม่ ’พันธุ์อู่ทอง 84-12“ และ ’พันธุ์อู่ทอง 84-13“ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0-3555-1543, 0-3555-1433 และ 0-3556-4863
จาก dailynews.co.th