คาถากันผี สำหรับผู้บริโภคอาหารปลอดสารพิษ
ที่มา : มูลนิธิสุขภาพไทย
ความ ตื่นตัวในการบริโภคอาหารปลอดสารพิษ เช่น ข้าว พืชผัก หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะว่าไปก็เป็นดาบสองคม
ใน ด้านบวกนอกจากผู้บริโภคได้กินอาหารที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อนและปลอดภัยต่อ ร่างกายแล้ว ก็ยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี หันมาผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ
ในทางกลับกัน หากพ่อค้าและผู้ผลิตบางรายเห็นแก่ได้ ย้อมแมวขาย "อาหารปลอดสารพิษ" กันเกลื่อนเช่นในขณะนี้ ผู้บริโภคย่อมเสียเปรียบ จ่ายเงินแพงขึ้นยังไม่เท่าไหร่ แต่หลงเชื่อว่าปลอดภัย ก็เลยไม่ระมัดระวังในการบริโภค นี่สิน่าเป็นห่วง ในที่สุด "ขบวนการขึ้นป้ายปลอดสารพิษ" จะบ่อนทำลายความพยายามของหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และผู้บริโภค ที่ต้องการผลักดันให้เกิดระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนขึ้น และตัดโอกาสของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตที่เขาทำจริง
ในสังคมที่ระบบเกษตรอินทรีย์ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากกลุ่มผู้ผลิต ผู้บริโภค ก็เคยเผชิญกับภาวะเช่นนี้มาก่อน จึงพัฒนาหลักประกันเพื่อป้องกันการแอบอ้าง และให้ความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ทำให้การตลาดการจำหน่ายของเกษตรกรดีขึ้น เพราะมีตราประทับรับรองเมื่อผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน
ในจุด ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยขณะนี้ ก็มีความร่วมมือของกลุ่มองค์กรเอกชนที่ทำงานพัฒนาด้านเกษตร นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ องค์กรผู้บริโภค ที่กำลังขะมักเขม้นสร้าง "มาตรฐานเกษตรอินทรีย์" หรือ มกท. เพื่อส่งเสริมให้การทำเกษตรอินทรีย์แพร่หลายไปในหมู่เกษตรกรและผู้บริโภค
ว่า โดยย่อ มกท. เป็นระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ว่า ปลอดจากการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทั้งระบบ โดยส่งผู้ตรวจสอบอิสระเข้าไปตรวจการผลิตตั้งแต่ภายในสวน ได้แก่ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว รวมไปจนถึงขั้นตอนการแปรรูป การบรรจุ การขนส่ง ให้แน่ใจว่าไม่มีการแอบอ้าง ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจะได้รับอนุญาตให้ติดฉลากเกษตรอินทรีย์สร้าง ความเชื่อถือให้ผู้ซื้อได้
มี คาถา 4-5 บท ที่ผู้บริโภคควรท่องให้ขึ้นใจ ก่อนจะเลือกอุดหนุนสินค้าใด ๆ ก็สามารถปัดรังควานผี (ไม่ปลอดสาร) ได้ไม่แพ้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
อย่าเชื่อตรา เมื่อเจอตราหรือคำโฆษณาสินค้าอาหารปลอดสารพิษ ให้สงสัยไว้ก่อน ยึดหลักว่า มีตราหลอกคนได้ง่ายกว่าไม่มี ถ้าตรานั้นไม่มีมาตรฐานและกระบวนการรับรองที่กระจ่างชัด รวมถึงอย่าเชื่อร้านและคนขาย โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง
ขยันหาข้อมูล ยกระดับของการเป็นผู้บริโภคที่ดีขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการแสวงหาข้อมูลด้วยตนเองจากการสังเกต การอ่าน การซักถาม เห็นกะหล่ำปลี "ปลอดสารพิษ" หัวเบ้อเร่อโผล่มากลางฤดูแล้ง ต้องซักว่าปลูกที่ไหน ใครปลูก ปลูกอย่างไร ใส่ปุ๋ยอะไร ป้องกันแมลงอย่างไร ผักกางมุ้ง ผักอนามัย ผักปลอดสารพิษ ผักปลอดภัยสารพิษ ผักอินทรีย์ ต่างกันอย่างไร ตรวจสอบข้อมูลจากหลาย ๆ ทาง แม้คนขายที่ใฝ่รู้จะช่วยกลั่นกรองข้อมูลให้ได้ แต่ก็มีน้อย การตรวจสอบข้อมูลการผลิตและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ลูกค้าน่าจะต้องถือเป็น คุณธรรมข้อสำคัญของร้านค้าสีเขียวทั้งหลาย
พบผู้ผลิต ไปถึงแหล่งผลิตเพื่อพบหน้าพูดคุยกับเกษตรกรโดยตรงเป็นวิธีดีที่สุด ไม่ได้ไปเช็คข้อมูลเพื่อจับผิด แต่มีนัยของการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เกษตรกรจะได้กำลังใจในการเลิกใช้สารเคมี เขาจะไม่ฉีดยา ถ้าคนกินผักเป็นคนที่เขารู้จัก ผู้บริโภคเองก็มีความมั่นใจ เข้าใจปัญหาอุปสรรคของการทำเกษตรอินทรีย์และพร้อมจะให้การสนับสนุน
รวมกลุ่ม ผู้ บริโภคไม่รวมกลุ่มก็หัวเดียวกระเทียมลีบ มีพวกพ้องที่มีความสนใจร่วมกัน ข้อมูลก็หาได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น มีพลังจะเปลี่ยนแปลงหรือต่อรองมากขึ้น จะเป็นกลุ่มในที่ทำงาน หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มองค์กรผู้บริโภคก็ได้
พึ่งตนเอง ท้ายสุด สิ่งไหนทำเองปลูกเองได้ก็ควรทำ จะไว้ใจใครได้มากกว่าตัวเราเอง