data-ad-format="autorelaxed">
มะเขือพวง
จากข้อมูลระบุว่า มะเขือพวง มีฤทธิ์ช่วยลดอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มะเขือพวงมีเส้นใยมาก ซึ่งช่วยในการดูดซับไขมันส่วนเกิน ช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี แก้ปวดบวมฟกช้ำ แก้อาการฝีบวมหนอง อักเสบ ขับปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานแต่พอดีอย่างเหมาะสมเพราะมะเขือพวงมีสารอัลคาลอยด์ ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและมีผลต่ออวัยวะอื่น ๆ.
มะเขือพวง Solanum torvum Sw.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum torvum Sw.
ชื่อวงศ์ SOLANACEAE
ซื่อสามัญ Plate brush egg plant
ชื่อท้องถิ่น มะเขือละคร หมากแค้ง มะแคว้งกูลัว มะแคว้งกูลา มะแว้ง มะแว้งช้าง รับจงกลมปอลอ ปอลือ เขือข้อย เขือพวง
ลูกแว้ง แว้งช้าง เขือเทศ ตะโกงลาโน จะเคาะค่ะ หมากแข้ง มะแขว้ง มะแข้งคม มะเขือป้าว (ภาคเหนือ) มะเขือฝรั่ง (กรุงเทพฯ)
มะเขือขาว มะเขือจานมะพร้าว มะเขือกระโปกแพะ มะเขือจาน (ภาคกลาง) สะกอวา ยั่งมูไล่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เกียจี้ (จีน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะเขือพวง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum torvum Sw. อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE ซึ่งเป็นวงศ์ของพืชพวกพริกและมะเขือ
ต่าง ๆ นั่นเอง มะเขือพวงมีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่น ๆ คือเป็นไม้พุ่มยืนต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือ
ชนิดอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีขนาดใหญ่โตกว่ามะเขือชนิดอื่น ๆ ด้วย เพราะมีทรงพุ่มสูงถึงกว่า 1 เมตร ขึ้นไปถึง 2 เมตร
มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้
ราก
มะเขือพวงจะมีระบบรากเป็นระบบรากฝอย (Fibrous root system) ระบบรากฝอย ซึ่งพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่
พืชใบเลี้ยงเดี่ยวเมื่องอกออกจากเมล็ด มีรากแก้วแต่รากแก้วจะสลายไป ประกอบด้วยรากที่มีขนาดใกล้เคียงกัน จำนวนมาก ซึ่งรากดังกล่าวเจริญและพัฒนามาจากเซลล์ที่อยู่ปลายสุดของลำต้น ดังนั้นจึงอาจถูกเรียกว่า adventitious root ได้ด้วย รากฝอยบริเวณโคนรากมีขนาดใกล้เคียงกับปลายรากและมักจะมี การเจริญขนานไปกับพื้นดิน ซึ่งแตกต่างจากระบบรากแก้วที่มักเจริญลงด้านล่างลึกลงไปในดิน
เพื่อดูดน้ำและแร่ธาตุ ตัวอย่างพืชระบบรากฝอย ได้แก่ หญ้า ข้าวโพด พริก มะเขือต่างๆ มะพร้าว เป็นต้น
มะเขือพวง น้อยคนนักที่จะชื่นชอบในรสชาติ นอกจากผู้ใหญ่วัยกลางคนที่อาจจะคุ้นเคยกับอาหารไทยประเภทแกงเขียวหวาน หรือผัดพะแนง มากกว่าไก่ทอด ไก่ย่างที่ติดดาว รสชาติของมะเขือพวงรสขมนิดๆ ออกเฝื่อนน้อยๆ มีเมล็ดภายในจำนวนมากราว 200-300 เมล็ด นับว่าเป็นพืชที่มีเมล็ดภายในจำนวนมาก
เวลารับประทานอาหารพวกพะแนงหรือแกงเขียวหวานทีไร มักจะตักมะเขือพวงทิ้งทุกที แต่คุณยายแนะว่าต้องรับประทานมะเขือพวงด้วยจะได้ช่วยย่อยอาหาร เนื่องจากกะทิย่อยยาก การรับประทานกับมะเขือพวงจึงช่วยในการย่อยอาหารได้ดีขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็ต้องไม่ลืมตักมะเขือพวงรับประทานด้วยทุกครั้งเมื่อรับประทานขนมจีนแกงเขียวหวาน
วัฒนธรรมในการรับประทานอาหารของคนไทยก็มีเสน่ห์ในการปรุงแต่ง ไม่ใช่แค่รสชาติ แต่ยังคำนึงถึงการตัดรส เสริมรส หรือการทำหน้าที่ของอาหารนั้นๆ ด้วย มะเขือพวงจึงเติมเสน่ห์ในเมนูอาหารไทยอย่างลงตัว
มะเขือพวง มีชื่อเรียกเก๋ไก๋แตกต่างตามท้องถิ่น เช่น มะเขือละคร ที่ชาวนครราชสีมาเรียก หรือภาคอีสานทั่วไปจะเรียกกันว่า หมากแข้ง เป็นที่รู้กัน ทางภาคเหนือมักเรียก มะแคว้งกุลา ส่วนทางใต้เรียก มะแว้งช้าง ในภาษาต่างประเทศ รับจงกอม ภาษาเขมร, ภาษาอังกฤษมีหลายชื่อเรียก Turkey berry, Devil's fig, Prickly nightshade, Shoo-shoo bush, Pea eggplant แถบแคริบเบียนเรียก Susumba ในภาษาทมิฬและอินเดียใต้เรียก Sundakkai
สรรพคุณของมะเขือพวงตามบันทึกสรรพคุณในเภสัชกรรมแผนโบราณกล่าวว่า ผล มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ คล้ายคลึงกับมะแว้งต้นและมะแว้งเครือ ส่วนของ ราก ใช้แก้เท้าแตกเป็นแผล ใบ ใช้ห้ามเลือด ทั้งต้น รักษากลาก เกลื้อน รักษาโรคผิวหนัง แก้หืด ขับปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเหงื่อ ทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้ปวดฟกช้ำจากการทำงานหนัก แก้ไอเป็นเลือด แก้ปวดกระเพาะ แก้ฝีบวมมีหนองและอักเสบ
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ลดความดันโลหิต ฆ่าหอย ฆ่าแมลง ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ แก้ชัก กดระบบประสาทส่วนกลาง ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ต้านมะเร็ง เหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซม ก่อกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์จับกลุ่ม ยับยั้งการงอกของพืชอื่น (นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร : สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3)
งานวิจัยในปัจจุบันบ่งชี้ว่า มะเขือพวงช่วยในการย่อยอาหารได้ดี ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงมีการนำไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้น สารต่างๆ ที่พบในมะเขือพวง ได้แก่
สารทอร์โวไซด์ เอ, เอช (torvoside A, H) เป็นสเตียรอยด์ไกลโคไซด์ พบในลูกมะเขือ ต้านเชื้อไวรัสเริม และเชื้อ HIV
สารทอร์โวนิน บี (torvonin B) เป็นซาโปนินชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ
สารโซลานีน (solanine) เป็นอัลคาลอยด์จากพืชตระกูลมะเขือ โซลานีนเป็นสารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ผู้ที่ไวต่อโซลานีนอาจมีอาการท้องเสีย ปวดหัว หรืออาเจียน ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนแล้วโอกาสที่จะป่วยด้วยสารดังกล่าวนี้ก็จะลดลง
สารโซลาโซนีน และโซลามาจีน (solasonine and solamagine) เป็นไกลโคซิเลตอัลคาลอยด์ที่พบในพืชตระกูลมะเขือ ในมะเขือพวงบางสายพันธุ์ (มักพบแถบแคริบเบียน) มีปริมาณสารเหล่านี้มาก ผู้ที่ไวต่อสารดังกล่าวถ้ากินมะเขือพวงดิบอาจเกิดอาการของระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทได้โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารโซลาโซดีนมีประสิทธิภาพยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์อันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง
ทางด้านคุณค่าทางโภชนาการ มะเขือพวง มีความเด่นในสารอาหารหลายชนิด เช่น มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหารสูง เส้นใยอาหารที่พบคือกลุ่ม แพคติน ซึ่งเป็นเส้นใยละลายน้ำ ช่วยเคลือบผนังลำไส้ ดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ดึงน้ำไว้จึงช่วยให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายได้ง่าย จึงป้องกันโรคท้องผูกและริดสีดวงทวารได้ กระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แนะให้ลองทำน้ำพริกสูตรที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานรับประทาน โดยเครื่องปรุงทั้งหมดคือ หอม กระเทียม พริกหนุ่ม พริกขี้หนูเล็กน้อย มะเขือยาว นำไปปิ้งไฟให้หอม โขลกให้แหลก แล้วเอามะเขือพวงลงไปบุบให้แตก จากนั้นปรุงรสตามชอบ หรือมะเขือพวงจะปิ้งก่อนก็ได้ช่วยเพิ่มความหอม เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน หรือไม่เป็นเบาหวานก็จัดเป็นเมนูต้านโรคได้
บทบาทต่อการลดเบาหวานนั้น มีการค้นพบว่า ช่วยลดน้ำตาลในเลือด แต่ต้องนำไปทำเป็นผลแห้งก่อนแล้วนำมาชงดื่ม ช่วยลดไขมันได้ด้วย การทำแห้งจะช่วยฆ่าฤทธิ์ของอัลคาลอยด์ ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท และมีอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวถ้าใช้ติดต่อเป็นเวลานาน
อย่างที่โบราณกล่าวไว้ สิ่งไหนให้คุณก็ให้โทษได้เช่นกัน มะเขือพวงก็เช่นเดียวกัน ให้คุณอนันต์ ช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ลดไขมัน เคลือบกระเพาะและลำไส้ ช่วยในการขับถ่ายได้ดี ใช้เป็นยาแก้ไอขับเสมหะได้ แต่ก็มีโทษมหันต์ถ้ามุ่งมั่นแต่จะรับประทานมะเขือพวงอย่างเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน จนอาจทำให้กลไกในร่างกายทำงานผิดปกติได้.
อ้างอิง
http://www.thaipost.net/tabloid/120812/60889
http://www.boonrarat.net/smunprai/makuepong.htm