data-ad-format="autorelaxed">
นักพฤกษศาสตร์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค้นพบ เฟิร์นปีกแมลงทับ หรือ แววแมลงทับ ซึ่งขึ้นเกาะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ในป่าหินปูนที่มีความชุ่มชื้นสูง
ด้วยเฟิร์นชนิดนี้มี ใบสีเขียวปนน้ำเงินเป็นมันวาว คล้ายสีปีกแมลงทับ อันเป็นที่มาของชื่อ และความสวยงามที่โดดเด่น จึงเป็นที่ต้องการของนักนิยมพฤกษาทั้งหลาย เพื่อสนองตัณหาเลยมีการลักลอบนำออกมาจากป่ามาจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวน มาก...
....อีกทั้งลักษณะทางพันธุกรรมมีความเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ฉะนั้นการเพิ่มปริมาณในธรรมชาติ จึงไม่แพร่กระจาย ผลลบที่เกิดขึ้นทำให้เฟิร์นปีกแมลงทับปริมาณลดน้อยลงหายาก และหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ได้ในอนาคต
อาจารย์มณฑา วงศ์มณีโรจน์ อาจารย์ รงรอง หอมหวล และ น.ส.สุลักณ์ แจ่มจำรัส ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จึงทำการทดลองวิจัยในการขยายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จน กระทั่งประสบความสำเร็จ...!!!
อาจารย์มณฑา บอกว่า...เฟิร์นปีกแมลงทับ เป็น พืชวงศ์ Phymatodes ซึ่งเป็นพืชชนิดที่เก่าแก่ แต่นักพฤกษศาสตร์ในบ้านเราเพิ่งจะพบกัน การดำเนินวิจัยและทดลองได้นำต้นเฟิร์นปีกแมลงทับซึ่งซื้อมาจากตลาด สวนจตุจักร โดยไม่ต้องลำบากเข้าป่าไปหาแซะเอาตามต้นไม้
ขั้นตอนแรกนำไปเลี้ยงจนกระทั่งขนาดต้นกอเฟิร์นเจริญเติบโตใหญ่ขึ้น แล้วจึงแบ่งแยกให้กอมีขนาดเล็กลงนำลงปลูกในกระถาง กระบวนการต่อมาจึงค่อยเข้าสู่ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยง
โดย ฟอกฆ่าเชื้อใบอ่อนที่ยังม้วน อยู่แล้วตัดเป็นชิ้นขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. ใส่ภาชนะใสเป็นถาดแก้วเลี้ยงบนอาหาร MS ที่เติม BA 5 มก.ต่อลิตร เป็นเวลานาน 6-8 เดือน แล้วคอยเฝ้าสังเกตในการขยายตัวของต้นพืช...
...เมื่อเนื้อเยื่อเริ่มมีการพัฒนาเติบโตขึ้น จึงนำต้นออกมาตัดแบ่งเนื้อเยื่อและเปลี่ยนอาหาร ทุก 1.5-2 เดือน จะได้ปริมาณต้นเพิ่มอีกเป็น 2-3 เท่า และใช้ความพยายามชักนำให้ ต้นเกิดราก ปรากฏว่าในช่วง 1-2 ปีแรก ไม่ว่าจะใช้วิธี การกระตุ้นรากด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโตหรือไม่ได้ใช้เลย ผลการ ทดลองทั้งสองแบบไม่ สามารถชักนำให้ต้นเฟิร์น ออกรากได้
จากนั้นได้พยายามทดลองมาเรื่อย กระทั่งย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ปรากฏว่าได้ ทดลองนำต้นเฟิร์น จากกอมาเพาะเลี้ยง และ กระตุ้นเนื้อเยื่อ จึงประสบความสำเร็จทำให้เฟิร์นออกราก แล้วนำขวดบรรจุต้นเฟิร์นที่มีขนาดใหญ่พร้อมปลูกไปตั้งไว้ในโรงเรือน ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อปรับสภาพแวดล้อม
...และล้างวุ้นอาหารออกจากรากให้สะอาด ก่อนปลูกลงในวัสดุที่ฆ่าเชื้อ โดยการนึ่งหรือการคั่ว อย่างเช่น ขุยมะพร้าวหรือขี้เถ้าแกลบ จากนั้นใส่ถุงพลาสติกหรือครอบกระโจม เพื่อเก็บรักษาความชื้นไว้ภายใน ต้นเฟิร์นจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
สำหรับการให้ปุ๋ยทางใบกระทำทุก 2-4 เดือน เพื่อให้ธาตุอาหารกับเฟิร์น เมื่อมีขนาดสูงขึ้นประมาณ 1.5-2 ซม. สามารถแบ่งต้นที่สมบูรณ์ออกจากกอเพื่อนำไปขยายพันธุ์ให้มีปริมาณมากขึ้น
อาจารย์มณฑา เผยถึงความคืบหน้าของผลงานว่า.... ขั้นต่อไปของงานวิจัยและทดลองได้ขยายพันธุ์นำออกไปปลูกในธรรมชาติ บริเวณพื้นที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งภูมิประเทศสูงจากระดับน้ำทะเล และมีความชื้นสูง พร้อมกับศึกษาข้อมูลทางด้านนิเวศเพิ่มเติมเพื่อให้ครบวงจร และให้ผลงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
...การนำพันธุ์พืชที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากห้องทดลอง ออกไปเจริญเติบโตได้ในธรรมชาติ เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับ ระบบนิเวศวิทยาป่าไม้ ของบ้านเรา อีกทั้งยังสามารถ พัฒนาเป็นไม้ประดับที่สร้างรายได้ให้กับป่าชุมชนได้ในอนาคต...!!!
ใครสนใจกริ๊งกร๊างข้อมูลเพิ่มเติมที่ อาจารย์ มณฑา 0-3435-1399, 0-3428-1092 ในเวลาราชการ
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
จาก thairath.co.th