data-ad-format="autorelaxed">
ค่าแรง 300 บาทดันเศรษฐกิจไทย
ได้เฮ! กันเสียที ...สำหรับบรรดาแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวที่จะได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 56 นี้เป็นต้นไป
แม้นโยบายนี้ทำให้แรงงานได้รับอานิสงส์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะแรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ระบบ แรงงานไร้ฝีมือ หรือแม้แต่แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทั้ง พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม รวมไปถึงแรงงานที่อยู่ในระบบอยู่แล้วที่มีกระแสข่าวว่านายจ้างหลายแห่งเตรียมปรับฐานค่าจ้างให้อีก 10-20% เพื่อหนีห่างแรงงานป้ายแดง เรียกได้ว่านโยบายของรัฐบาล “ปูกรรเชียง” ครั้งนี้ทำให้แรงงานถูกหวยอย่างจังเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งในความเป็นจริงแล้วรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย
53 จ.รายได้พุ่ง 70-80%
ทั้งนี้จะมีแรงงานใน 53 จังหวัดที่มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 70-80% เช่นที่จังหวัดพะเยา จากเดิมที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 159 บาทแต่เมื่อปรับเพิ่มเป็น 300 บาท ทำให้เพิ่มขึ้นทันที 88.7% จังหวัดศรีสะเกษ จาก 160 บาท มีรายได้เพิ่ม 87.5% จังหวัดน่าน เดิม 161 บาทเพิ่มเป็น 86.3% จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดตาก เดิม 162 บาท เพิ่ม 85.2% หรือจังหวัดพิจิตร, แพร่, อุตรดิตถ์, แม่ฮ่องสอน, พิษณุโลก, มหาสารคามและอำนาจเจริญ เดิมได้ 163 บาท ก็เท่ากับมีรายได้เพิ่ม 84%
ส่วนที่จังหวัดนครพนม เดิม 164 บาท มีรายได้เพิ่ม 82.9%, จังหวัดสุโขทัย, มุกดาหาร, หนองบัวลำภู, ลำปาง, ชัยภูมิ เดิม 165 บาท มีรายได้เพิ่ม 81.8% ขณะที่จังหวัดสกลนคร, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, เชียงราย, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์ เดิม 166 บาท มีรายได้เพิ่ม 80.7% ส่วนขอนแก่น, กาฬสินธุ์, สุพรรณบุรี, ชัยนาท เดิมได้ 167 บาท มีรายได้เพิ่ม 79.6% หรือที่กำแพงเพชร และอุทัยธานี เดิมได้ 168 บาท มีรายได้เพิ่ม 78.6% เช่นเดียวกับจังหวัดหนองคาย, ลำพูนและ ตราด เดิม 169 บาท มีรายได้เพิ่ม 77.5%
สำหรับจังหวัดปัตตานี, นครนายก เดิม 170 บาท มีรายได้เพิ่ม 76.5% จังหวัดอุดรธานี, อุบลราชธานี, นราธิวาส เดิม 171 บาท มีรายได้เพิ่ม 75.4% เป็นต้น
จับตาผลกระทบค่าจ้าง
อย่างไรก็ตามจากนี้ไปคงต้องติดตามว่านโยบายประชานิยมขนาดนี้เมื่อเต็มรูปแบบแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย!
ประเด็นแรก...หนีไม่พ้นเรื่องความเป็นอยู่ของแรงงานว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามที่รัฐบาลโฆษณาหรือไม่ หรือกลายเป็นว่าแรงงานต้องตกงานเพราะถูกเลิกจ้างประเด็นที่สอง...ต้องติดตามว่านายจ้างบางรายจะมีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันหรือไม่ ประเด็นที่สาม...ต้องติดตามผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งการปิดกิจการรวมถึงมาตรการของรัฐบาลสามารถบรรเทาภาระต้นทุนได้หรือไม่ประเด็นสุดท้าย...ต้องจับตาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น
ต่างด้าวกลัวไม่ได้ 300 บาท
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำให้บรรดาแรงงานเริ่มกังวลโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่กังวลว่านายจ้างไทยจะซิกแซ็กไม่ให้ค่าจ้างแรงงานพม่า 300 บาท เหมือนกับแรงงานคนไทย เพราะตอนนี้แรงงานพม่ามองว่าค่าครองชีพในไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้รายได้ที่เคยได้รับต่ำกว่ารายจ่าย หากนายจ้างไม่ขึ้นค่าจ้างให้ก็เตรียมกลับประเทศ หากเป็นเช่นนั้นจริง..รับรองได้ว่า อุตสาหกรรมไทยหลายเจ้าต้องกระอักแน่ เพราะขณะนี้สถานการณ์แรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวมาก ขณะที่เมื่อดูตามกฎหมายแล้วแรงงานต้องได้รับค่าจ้างเท่ากันหมดไม่ว่าแรงงานไทยหรือต่างด้าว จึงไม่น่ากังวล ยกเว้นแรงงานผิดกฎหมายที่อาจถูกกดค่าแรงได้
เอสเอ็มอีเสี่ยงปิดกิจการ
ขณะที่จากนี้ไปคงต้องจับตาดูบรรดาเอสเอ็มอี ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป จะต้องปิดกิจการมากถึง 800,000-1 ล้านราย จากเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 2.9 ล้านราย ที่ได้มีการคาดการณ์กันก่อนหน้านี้หรือไม่ หากรัฐบาลไม่ยอมเฉือนงบประมาณมาเยียวยา แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือโดยเฉพาะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ช่วยอะไรได้ไม่มากนักและอาจเกิดผลร้ายตามมา หากศักยภาพการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยลดลงเพราะรังแต่จะทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจนสุดท้ายกลับมาทำลายธุรกิจลง ก็เป็นได้พูดง่าย ๆ เมื่อความสามารถแข่งขันไม่มีผู้ประกอบการก็ต้องปิดกิจการ สุดท้ายหนี้ที่กู้มาก็ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ ในที่สุดต้องถูกฟ้องร้องถูกเช็กบิลไล่ยึดหลักทรัพย์ที่นำไปค้ำประกันไว้ ซึ่งมีการคาดการณ์กันด้วยว่าหากรัฐบาลไม่มีมาตรการเด็ดเอสเอ็มอีไทยคงมีหนี้เน่าเป็นหลักแสนล้านบาททีเดียว
ทั้งนี้มาตรการที่เอกชนเรียกร้องมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการช่วยจ่ายเงินสมทบในส่วนที่เพิ่มของค่าจ้างเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะช่วยรับภาระต้นทุนของเอสเอ็มอีได้ถึง 4-5% ทีเดียว ซึ่งในปี 56 รัฐบาลช่วยสมทบทุนให้ 75% นายจ้างจ่ายเพิ่ม 25% ในปี 57 รัฐบาลสมทบ 50% นายจ้างช่วยจ่าย 50% และ ในปี 58 รัฐบาลช่วยสมทบทุน 25% และนายจ้างเพิ่ม 75% และในปีต่อไป นายจ้างรับภาระทั้งหมด ซึ่งหากรายใดรับภาระไม่ได้ก็ถือว่าไม่ควรทำกิจการดังกล่าวต่อไปแล้ว
ทั้งนี้จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์พบว่าผู้ประกอบการ 62.3% ต้องการให้รัฐอุดหนุนค่าจ้างที่เป็นส่วนต่าง ซึ่งหากได้มาตรการนี้แล้ว รับรองว่ามาตรการอื่น ๆ ไม่มีก็ไม่เสียใจเป็นอันขาด เพราะการช่วยสมทบเงินจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 80% เลย
แต่ทั้งหมดทั้งปวงรัฐบาลก็กำลังคิดหนักเหมือนกันกับการนำเงินภาษีมาอุดหนุนส่วนต่าง เพราะใช้เงิน 50,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปี และที่สำคัญไม่รู้ว่ารัฐบาลจะหาเงินมาจากไหนเหมือนกันในปริมาณที่มากขนาดนี้ เพราะแค่คืนภาษีรถยนต์คันแรกคงต้องใช้เงินเฉียดแสนล้านบาทเข้าไปแล้ว
เรื่องนี้คงต้องวัดใจรัฐบาลว่าในวันที่ 8 ม.ค.นี้ บรรดาครม.จะกล้าอนุมัติงบประมาณเพื่ออุดหนุนตามที่เอกชนขอมาได้หรือไม่ หากไฟเขียวก็เชื่อว่าเอสเอ็มอีทั่วประเทศคงได้เฮ! และยังมีเอสเอ็มอีวิ่งเข้ามาอยู่ในระบบอีกจำนวนมากแน่นอน ดังนั้นจึงมีการประเมินกันว่า ถ้ารัฐบาลใจกล้าจริง ผลที่ออกมาจะมีในระบบเศรษฐกิจมากกว่าการใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายกับการคืนภาษีรถยนต์คันแรกหลายเท่าตัว
มาตรการอื่นแค่พื้น ๆ
ส่วนมาตรการอื่น ที่รัฐนำมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ประเมินว่าเป็นเรื่องพื้น ๆ ทั้งเรื่องการลดเงินประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ที่มีผู้ประกอบการกดไลค์เพียง 13.8% , มาตรการปรับปรุงอัตราการเก็บเงินสมทบสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม 10.4% การนำส่วนต่างค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายก่อนเสียภาษี 9%
ขณะที่มาตรการการลดภาษีนิติบุคคล พบว่าผู้ประกอบการเห็นด้วย เพียง 3.2% เท่านั้นซึ่งดูแล้วเรื่องนี้เอสเอ็มอีไม่ค่อยสนเพราะส่วนใหญ่กำไรแทบไม่มี แต่รายใหญ่หรือบริษัททุนข้ามชาติยอมไม่ได้เพราะรับอานิสงส์เต็ม ๆ เนื่องจากเดิมกลุ่มนี้ให้ค่าจ้างเกิน 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว
ด้านมาตรการอื่น ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจสักเท่าไหร่ เช่น มาตรการในการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานตาม พ.ร.บ.พัฒนาฝีมือแรงงาน มาหักภาษีได้, มาตรการกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.1%, มาตรการสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการจ้างงาน สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องกิจการ, มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพด้านการผลิต, มาตรการค้ำประกันสินเชื่อรวม, มาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น
เพิ่มค่าจ้างกันซบรายใหญ่
อีกประเด็นหนึ่งที่เอกชนกังวลคือแรงงานฝีมือที่มีอยู่และแรงงานคนเก่าคนแก่ที่ทำงานมานาน เพราะกลุ่มนี้มีความสำคัญมากกว่าแรงงานใหม่ในการขับเคลื่อนการทำงานของโรงงาน ซึ่งมีอยู่นับล้านคนเช่นกัน
เบื้องต้น...บางโรงงานได้ปรับฐานค่าจ้าง 15-20% แก่แรงงานระดับหัวหน้างาน ช่างฝีมือ และกลุ่มทำงานมานาน เพื่อให้ฐานรายได้ของกลุ่มนี้ห่างจากแรงงานระดับล่าง หลังจากที่นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ
หากไม่ปรับค่าจ้างกลุ่มนี้ก็ทำให้แรงงานไร้ฝีมือ และเด็กใหม่มีค่าจ้างใกล้เคียงกับแรงงานฝีมือหรือคนที่ทำงานมานานแล้ว สุดท้ายจะเกิดความปั่นป่วนในองค์กร และในที่สุดเชื่อว่าแรงงานที่เก่ง ๆ คงย้ายไปซบกับอุตสาหกรรมที่ให้ค่าจ้างสูง ๆ โดยเฉพาะบริษัททุนข้ามชาติ อย่างบรรดาค่ายรถยนต์ที่ให้ค่าจ้างสูงแถมยังแจกโบนัสบานฤทัย
โพลห่วงดันค่าครองชีพพุ่ง
ในเมื่อบรรดาเจ้าสัวต่างควักกระเป๋าเพิ่มในการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งคาดว่าเงินที่จ่ายเพิ่มน่าจะเฉลี่ยปีละ 60,000-70,000 ล้านบาท หรือจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในภาพรวมเพิ่ม 5-10% ดังนั้นผลที่ตามมาคงหนีไม่พ้นผู้ผลิตสินค้าในบางประเภทจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มอีก 5-10% เช่นกัน ยกเว้นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง เพราะหากมีการปรับราคาอาจทำให้เสียเปรียบคู่แข่งได้
ทั้งนี้การที่สินค้ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าตามตลาดนัด สินค้าตามตลาดสด สินค้าตามตลาดริมถนน ยันสินค้าตามห้างสรรพสินค้า มีการประเมินว่าจะทำให้ค่าครองชีพของชาวบ้านเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีกวันละ 15-20 บาทต่อวัน
เป็นการประเมินที่สอดคล้องกับผลสำรวจความรู้สึกของประชาชน ที่ “นิด้าโพล” ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าสิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดคือราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นตามค่าแรง รวมไปถึงกังวลว่านายจ้างอาจเลิกจ้างแรงงานไทยและหันไปใช้แรงงานต่างด้าวแทน รวมทั้งกังวลว่าจะไม่ทำให้เกิดการออมเพิ่มขึ้น
คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำก้าวกระโดดของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยไปในทิศทางใด หากไปโลดรับรองว่าเสียงชื่นชมดังกระหึ่มแน่ แต่หากเศรษฐกิจลงเหว และเอสเอ็มอีของคนไทยตายหมู่ ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลก็คงรอดยากเช่นกัน!.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th