data-ad-format="autorelaxed">
ช้างไถนาที่บ้านนาเกียน นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการสำนักงาน กปร. นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. และผู้บริหารจากสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ จังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่จากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถานีและมอบถุงยังชีพพระราชทานแก่ราษฎร โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องและราษฎรในพื้นที่ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา
สำหรับการดำเนินงานและการพัฒนาสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ นั้น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้แทนพระองค์ไปตรวจพื้นที่สถานีฯ และได้อัญเชิญแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการจัดตั้งและพัฒนาสถานีฯมามอบให้แก่คณะทำงาน
สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้มีพระราชดำริให้สถานีเป็นแหล่งให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ โดยใช้พื้นที่อย่างจำกัด แต่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พอเลี้ยงตนเองได้ โดยยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องระบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักเป็นแนวทางและเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าและอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำน้ำแม่ฮอง เพื่อป้องกันวิกฤติการขาดแคลนน้ำในอนาคต สร้างงานให้ราษฎรมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาความยากจน และการว่างงาน ให้โอกาสแก่ราษฎรผู้ด้อยโอกาสได้มีงานทำ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตผัก ไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ กะหล่ำม่วง, กะหล่ำหัวใจต้นหอมญี่ปุ่น, ฟักทอง, กะหล่ำปลีม่วง, แตงกวาลูกผสม, มะเขือเทศ, พริกหวาน,ถั่วหวาน เป็นต้น ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไม้ผล เช่น พลับ กาแฟ สาลี่ มะขามป้อม ฯลฯ กาแฟ ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวพันธุ์บือพะดู และบือชะสอ บนพื้นที่สูงได้ผลผลิตเฉลี่ย 360 กิโลกรัมต่อไร่ จัดตั้งธนาคารข้าวเพื่อช่วยเหลือราษฎรเกี่ยวกับการจัดหาพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูก และเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียง ให้มีการปลูกพืชหลังฤดูการทำนาเสริม ซึ่งทำให้ราษฎรมีผักไว้บริโภคอย่างพอเพียง มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ด้วยการเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงแพะเนื้อ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรอง ได้แก่ การทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ การจักสาน และการทอผ้าการทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่
รายได้ของประชากรในพื้นที่ เมื่อมีการจัดตั้งสถานีฯ ทำให้มีรายได้จากเดิม 3,600 บาท/ปี/คน เป็น 24,000 บาท/ปี/คน ทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการปลูกป่าและอนุรักษ์ฟื้นฟูให้เป็นป่าต้นน้ำ ตั้งแต่ปี 2548-2555 ได้ปลูกป่า จำนวน 1,600 ไร่ สร้างฝายต้นน้ำลำธาร ฝายผสมผสานจำนวน 680 แห่ง ฝายกึ่งถาวรจำนวน 22 แห่ง ปลูกหญ้าแฝก 400,000 กล้าพื้นที่ 8,100 ไร่ ปลูกสร้างสวนป่าหวาย จำนวน 600 ไร่ บ้านนาเกียนเป็นที่รู้จักกันในเรื่อง ช้างไถนา ในสมัยอดีตด้วยภูมิปัญญา โดยการทำนาด้วยแรงงานจากช้าง โดยดัดแปลงเครื่องมือที่ใช้กับโคหรือกระบือให้เหมาะสมกับสัดส่วนของช้าง โดยการเปรียบเทียบการใช้งานระหว่างช้างกับกระบือพบว่าในระยะเวลาที่เท่ากันและลักษณะพื้นที่ที่เหมือนกัน ช้าง 1 ตัว สามารถทำงานได้เท่ากับกระบือ 2 ตัว “ช้างไถนา” จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของบ้านนาเกียน ที่เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและจากผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548–2555 สามารถทำให้ราษฎร มีข้าว พืชผักและอาหารโปรตีนอย่างเพียงพอ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับราษฎร มีอาชีพเสริม ไม่เกิดปัญหาอาชญากรรม เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจากเดิมราษฎรสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างผาสุก ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนแบบพึ่งพาซึ่งกันและกันตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th