แนะผู้ปลูกพริกไทยรับมือตลาดเสรีอาเซียน
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ไทยได้เปิดตลาดพริกไทยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Area : AFTA) ..
data-ad-format="autorelaxed">
แนะผู้ปลูกพริกไทยรับมือตลาดเสรีอาเซียน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ไทยได้เปิดตลาดพริกไทยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Area : AFTA) โดยไม่จำกัดปริมาณนำเข้า อัตราภาษีร้อยละ 5 คาดว่าจะมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ อาจส่งผลให้ราคาซื้อขายปรับตัวลดลง ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีการปลูกพริกไทยจำนวนมากในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกและผลผลิตคิดเป็นประมาณร้อยละ 98 ของพื้นที่ปลูกและผลผลิตพริกไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน การผลิตมีแนวโน้มลดลง สาเหตุสำคัญมาจากสภาพดินเสื่อมโทรมและเกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกพืชหลายชนิดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา และแก้วมังกร ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเสรีสินค้าพริกไทยภาษีร้อยละ 0 ตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ย่อมส่งผลให้ มีการนำเข้าพริกไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชาและลาว อย่างไรก็ตามการนำเข้าดังกล่าว ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะกลิ่นและรสชาติทำให้พริกไทยจันทบุรียังเป็นที่ต้องการของตลาด
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ เกษตรกรไทยก็ไม่ควรประมาทในด้านการผลิต เพื่อสามารถรักษาตลาดการผลิตพริกไทยเอาไว้ ทั้งนี้ จากผลการศึกษาอุปสงค์ อุปทานพริกไทย ทั้งก่อนและหลังการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ของสศก.พบว่า จากผลการศึกษาในระยะสั้น เกษตรกรยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ AFTA เนื่องจากผลผลิตพริกไทยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้อยู่ประมาณ 2,700 - 3,700 ตัน แต่ในระยะยาว คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากปริมาณนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการศึกษาปรากฏว่า อัตราภาษีมีผลกระทบต่อการนำเข้ามาก อีกทั้งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความต้องการพริกไทยอย่างมาก ได้แก่ ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ และรายได้ของผู้บริโภค ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อผลผลิตพริกไทย ได้แก่ ราคาพริกไทยที่เกษตรกรขายได้ซึ่งปลูกในพื้นที่เดียวกันกับผลไม้ และราคาเงาะโรงเรียนที่เกษตรกรขายได้ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการส่งออกพริกไทย ได้แก่ ราคาส่งออก และราคาขายส่งในประเทศ ด้านปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการนำเข้าได้แก่ ราคานำเข้าพริกไทยเมล็ด ราคาขายส่งในประเทศและอัตราภาษีนำเข้า
นอกจากนี้จากการคาดคะเนในช่วงปี 2556 - 2558 พบว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด เฉลี่ยต่อปีร้อยละ 6 รองลงมาได้แก่ปริมาณการนำเข้า และปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ เฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2 และ 1 ตามลำดับ ส่วนปริมาณการผลิต มีอัตราลดลงค่อนข้างมากเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 20 และปริมาณการส่งออกลดลงเฉลี่ยต่อปีเกือบร้อยละ 2
ทั้งนี้ จากการที่พริกไทยซึ่งในอดีตถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ มีพื้นที่ปลูกและผลผลิตกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกและผลผลิตทั้งประเทศ และเป็นหนึ่งในสินค้าจำนวน 23 รายการที่ต้องมีการกำหนดปริมาณและอัตราภาษีนำเข้า(Tariff Rate Quota: TRQ) ของการเปิดตลาดภายใต้ WTO แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์พริกไทยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยผลผลิตได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ ประกอบกับเกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกสินค้าเกษตรอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้บางส่วนปรับลดพื้นที่การผลิตลง ซึ่งอาจจะขาดแคลนผลผลิตในอนาคต
ดังนั้น ในระยะสั้น ภาครัฐควรดำเนินนโยบายวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ โดยสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณผลผลิต ด้วยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต ส่วนในระยะยาว ควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกพริกไทยอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพื่อฟื้นฟูสภาพดินที่เสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมาเป็นเวลานาน สนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับชนิดของพืชที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นต้นค้างทดแทนค้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีต้นทุนสูง รวมทั้งให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐฯ ผู้ประกอบการและผู้ผลิตทั้งในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น
...เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือเปิดการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Area : AFTA) เกษตรกรไทยไม่ควรประมาท แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอนาคตพริกไทยหลังเปิด AFTA จะยังคงสดใสต่อไป แต่ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องมีการปรับตัวเตรียมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ซึ่งแนวทางดำเนินการ ได้แก่ การรักษาระดับผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ โดยควบคุมพื้นที่ปลูกไม่เกิน 18,000 ไร่ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูสภาพดินที่เสื่อมโทรมหลังจากปลูกพริกไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ปรับเปลี่ยนการปลูกเป็นพริกไทยอินทรีย์แทนการใช้สารเคมี กำหนดมาตรฐานพริกไทยและผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและแปรรูป เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th
อ่านเรื่องนี้แล้ว : 16830 คน
£
ความคิดเห็นจากผู้อ่าน:
เลือกหมวด :
แสดงเนื้อหารวมจากทุกหมวด,
สินค้าเกษตร, ไอเดียและเทคโนโลยีเกษตร, รวม VDO เด่นจาก FK, นาข้าว, เศรษฐกิจเกษตร, ภาพถ่ายเกษตร, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ไร่ข้าวโพด, ผักและการปลูกผัก, การปลูกพืช, ไม้ผล ไม้ยืนต้น, เกษตรน่ารู้, สมุนไพร, ไม้มงคล, พุทธศึกษา, FK Talk, สุขภาพ, การใช้ SUN กับพืชต่างๆ, แอพฯด้านเกษตร, ไม้ดอก ไม้ประดับ, องค์กรด้านเกษตร, ซื้อขายที่ดิน, ห้องปศุสัตว์, ประมง, เกษตรกรตัวอย่าง, ฟาร์มเกษตรพาเที่ยว, FK Freestyle, Agri live update, ออแกนิกส์, จักรกล, อุปกรณ์การเกษตร, ไร่กาแฟ,