data-ad-format="autorelaxed">
ความพอเพียงในเขตสปก. รู้จักบริหารตนก็เป็นคน ร่ำรวยได้
“...ขอให้คนไทยอยู่แบบพอเพียง ใช้สติ และปัญญา เป็นเครื่องนำทาง ยึดความพอดีเป็นที่ตั้ง...การทำเกษตรจะต้องยึดความพอดีเป็นที่ตั้ง เพราะหากมากไป ก็จะถูกทิ้ง ราคาถูกลง...ทำอะไร ให้ทำแบบพอประมาณ ใช้เหตุใช้ผล เราทุกคนก็จะอยู่รอดกันได้อย่างมีความสุข...”
อันเป็นคำสั่งสอนที่ พ่อหลวงปวงชนไทย ทรงให้แนวทางในการปฏิบัติ.... เกษตรกรทั้งหลายได้ยึดเป็นแนวปฏิบัติในปัจจุบัน จนกระทั่งเกิดเป็นรูปธรรมที่ทำให้ครอบครัวเกิดความผาสุก
และหนึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ นายจรัล เหล่าถาวร เกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินบ้านกรุงเก่า ต.กรุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ดั้งเดิมในพื้นที่ 9 ไร่เศษประกอบอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยว มุ่งปลูกมันสำปะหลังเพียงอย่างเดียว แล้วผลลัพธ์ท้ายสุดรายได้ก็ไม่เพียง พอกับรายจ่าย...วิถีชีวิตหมิ่นเหม่ต่อการล่มสลาย
แล้วจึงได้รูปแบบของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติ โดยการหันมาสู่ “เกษตรผสมผสาน” จนกระทั่งได้รับความสำเร็จ ปัจจุบันมีเงินเข้ากระเป๋า 300-500 บาท...แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยแต่ว่าได้รับทุกๆวัน
รายได้เหล่านี้มาจากไหน...นายจรัล ให้คำตอบว่า “...แต่ก่อนทำไร่มันสำปะหลังกับทำไร่อ้อย รายได้ ปีหนึ่งมาครั้งหนึ่ง มีรายได้แบบเชิงเดี่ยว (ทางเดียว) ได้เงินเป็นก้อน ชื่นชมเพียงไม่กี่วัน ก็นำไปใช้หนี้เก่าที่สร้างไว้ตลอดทั้งปี เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว จะเหลือเม็ดเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง...
...จึงหันมาทำสวนแบบผสมผสาน ซึ่งจะปลูกมะขาม ละมุด ลำไย ลิ้นจี่ มะยงชิด และเริ่มมีรายได้ที่เข้ามาทุกเดือนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งไร่อ้อย...สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้เกิดรายได้”
การปลูกในพื้นที่จะเป็นแบบผสมกันไปหมดไม่ ได้แบ่งว่าอะไรปลูกตรงไหนกี่ต้น จะปลูกตามสภาพฐานะที่มีในช่วงนั้นๆ แต่ละต้นสภาพจะไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับหน้าดิน การดูแลจะพยายามหลีกเลี่ยงและไม่เน้นสารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่จะนำมูลสัตว์มาใส่ ตามโคนต้น และถ้าต้องการเน้นช่อดอกก็ต้องทำปุ๋ยหมักตามที่ไปอบรมมา และเรื่องน้ำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ลุงจะต่อท่อจากฝายเพราะพื้นที่ต่ำจึงไม่ต้องต่อผ่านเครื่องสูบ และมาเดินท่อผ่านตามโคนต้นแบบระบบน้ำหยด
และ ไม่ต้องใช้แรงงานมาก... ไม่ต้องจ้างแรงงานใช้คนในครอบครัวดูแลจัดการไปเรื่อยๆ ผลผลิตเมื่อก่อนจะยังไม่ค่อยมีเข้ามา เพราะเราปลูกพืชยืนต้นเหมือนทำงานรายวัน เป็นเวลากว่า 4-5 ปีแล้วที่สมาชิกคนในครอบครัวเลิกออกไปรับจ้างที่อื่นแล้วหันมามุ่งงานในไร่...
โดยในการปฏิบัติทั้งด้านบริหารและ เทคโนโลยีการเกษตรได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโดยตลอด.... จนกระทั่งสามารถที่จะยืนหยัดด้วยตนเองและก็ยังได้นำเอาความรู้เหล่านี้ ไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มสมาชิกรายอื่นๆให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้
ลุงจรัล บอกกับสื่อมวลชนเป็นการตบท้ายว่า....การทำเกษตรผสมผสานถึงแม้รายได้น้อย แต่ก็มีเข้ามาทุกวัน ความสุขความร่ำรวยอยู่กับการบริหารตัวเราเอง ถ้าเรารู้จักประหยัดและออมทรัพย์ เบี้ยหัวแตกเมื่อรวมแล้วปลายปีก็มีเงินเป็นกอบเป็นกำ ร่ำรวยเหมือนกับคนอื่นเขาได้เช่นกัน.
เพ็ญพิชญา เตียว
Ref:-->( http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=33694 )