data-ad-format="autorelaxed">
ระวังการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ 46 จังหวัด จากการสำรวจติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ 46 จังหวัด ในช่วงเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบเพลี้ยแป้งอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
ทั้งนี้ได้มีการใช้แมลงช้างปีกใสและแตนเบียน ในพื้นที่ 13 จังหวัด รวมพื้นที่ 26,195 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.31 ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังยืนต้นทั้งประเทศ คือ 8,624,573 ไร่ พื้นที่โดยรวมระบาดเพิ่มขึ้น 2,142 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.91 เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่ผ่านมา โดยในส่วนของพื้นที่ระบาดเพิ่มขึ้นต้องรีบดำเนินการควบคุมมี 4 จังหวัด คือ จ.ยโสธร นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี พื้นที่ระบาดอยู่ในระหว่างการควบคุมคงเดิม 4 จังหวัด คือ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุทัยธานี และสระแก้ว พื้นที่ระบาดลดลง 5 จังหวัด คือ จ.มหาสารคาม ขอนแก่น ปราจีนบุรี ระยอง และกาญจนบุรี พื้นที่ไม่ระบาด ซึ่งต้องเฝ้าระวังทั้งหมด 12 จังหวัด
สำหรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการระบาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย การแจ้งเตือนให้ทุกจังหวัดแนะนำเกษตรกรให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมเพลี้ยแป้ง โดยการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูก ติดตามสถานการณ์และการใช้ศัตรูพืช ทำการปล่อยแตนเบียนโดยหน่วยราชการ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 ถึง 28 มีนาคม 2555 รวม 6,800,705 คู่ ควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพูตามปริมาณการปล่อยในพื้นที่ 136,014.1 ไร่ โดยในระหว่างวันที่ 21–28 มีนาคม 2555 ได้ปล่อย 107,800 คู่ ควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพูตามปริมาณการปล่อยในพื้นที่ 2,156 ไร่
และจากการติดตามประเมินผลในพื้นที่หลังการปล่อย 1 เดือน พบปริมาณเพลี้ยแป้งในพื้นที่ปล่อยไม่เพิ่มปริมาณ และจากการสุ่มตรวจโดยการเด็ดยอดที่มีการทำลายของเพลี้ยแป้งสีชมพูสุมไว้ในกรงสุมยอด พบแตนเบียนออกจากมัมมี่เพลี้ยแป้งจากยอดที่สุมไว้ แสดงว่าแตนเบียนมีประสิทธิภาพในการเข้าทำลายเพลี้ยแป้งได้ดี 3 ปล่อยแมลงช้างปีกใส ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 ถึง 28 มีนาคม 2555 รวม 1,356,262 ตัว ควบคุมพื้นที่ระบาดตามปริมาณการปล่อยในพื้นที่ 13,562.62 ไร่ โดยในระหว่างวันที่ 21–28 มีนาคม 2555 ปล่อยจำนวน 13,400 ตัว ควบคุมพื้นที่ 134 ไร่ ส่วนพื้นที่การระบาดได้ปล่อยแตนเบียนและแมลงช้างปีกใสควบคุมเป็นพื้นที่ 149,576.6 ไร่
โดยในระหว่างวันที่ 21–28 มีนาคม 2555 จากการสำรวจพบว่าสามารถควบคุมพื้นที่การระบาด 2,290 ไร่ และจากการติดตามประเมินผลในพื้นที่หลังการปล่อย 1 เดือน พบปริมาณเพลี้ยแป้งในพื้นที่ปล่อยลดลง และพบปริมาณไข่แมลงช้างปีกใสในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
ส่วนแผนการดำเนินงานขั้นต่อไปของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นมีรายงานว่าจะมีการจัดทำแผนการปฏิบัติการในการผลิตขยายศัตรูพืชธรรมชาติ เพื่อปล่อยแบบครอบคลุมพื้นที่เพื่อควบคุมก่อนการระบาด และจัดเตรียมสารเคมีแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนปลูก และผลิตขยายศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้ง จะมีการปล่อยแตนเบียนและแมลงช้างปีกใส ในจุดที่เริ่มพบเพลี้ยแป้งสีชมพู เพื่อใช้ในการรณรงค์ต่อไป
ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงให้หน่วยงานที่รับผิดชอบของแต่ละจังหวัดให้การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ให้เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นอกจากเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนแล้ว ยังสามารถเฝ้าระวังและกำจัดศัตรูพืชได้อย่างใกล้ชิดและตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังเน้นการดำเนินงานในลักษณะการบูรณาการป้องกันกำจัดและควบคุมเพลี้ยแป้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานเอกชน อาทิ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง โรงแป้ง ลานมัน สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และบริษัทที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการติดตามและประเมินผลการปล่อยแตนเบียนและแมลงช้างปีกใส
หากพบว่ามีพื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้น ก็จะมีการเพิ่มปริมาณการปล่อยศัตรูธรรมชาติให้มากขึ้นด้วย ตลอดจนให้หัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานและชี้แจงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างต่อเนื่อง อีกด้วย.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th