data-ad-format="autorelaxed">
แนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ไว้ 2 ลักษณะ คือ ระยะสั้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในฤดูกาลผลิตภายใต้โครงการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ โดยให้จังหวัดเป็นแกนหลักในการจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ พร้อมกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผ่านคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลทางการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) คณะอนุกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ระดับภาค โดยกรมส่งเสริมการเกษตรรวบรวมและวิเคราะห์โครงการเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พิจารณา สำหรับ ระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2553-2557 โดยเน้นพัฒนาคุณภาพผลไม้ด้วยการจัดระบบการผลิตจากต้นน้ำที่ถูกต้อง เพื่อลดปริมาณผลผลิตด้อยคุณภาพซึ่งเป็นเหตุให้ราคาตกต่ำ
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าภาคตะวันออกจะมีผลผลิตทุเรียน รวม 336,207 ตัน มังคุด 129,273 ตัน เงาะ 233,298 ตัน และลองกอง 66,372 ตัน สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้นั้น จะไม่แทรกแซงราคา แต่จะเสริมสภาพคล่องทางการตลาดเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาผลไม้ไม่ให้ตกต่ำ โดย คชก.ได้อนุมัติงบประมาณ 137.841 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก จำนวน 51,000 ตันภายใต้ 4 มาตรการหลัก ได้แก่…1.มาตรการบริหารจัดการคุณภาพผลผลิต เงินจ่ายขาด วงเงิน 1,104,000 บาท ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยจะตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจในการสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพ พร้อมฝึกอบรมทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่เฉพาะกิจในการสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพด้วย 2. มาตรการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต สู่ตลาดภายในประเทศเป้าหมาย 48,000 ตัน และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 3,000 ตัน เงินจ่ายขาด วงเงิน 127,500,000 บาท โดยจะสนับสนุนค่าขนส่งและค่าการตลาดเหมาจ่าย อัตรา 2.50 บาท/กิโลกรัม (ค่าขนส่ง 1.50 บาท และค่าการตลาดเหมาจ่าย 1 บาท) เพื่อชดเชยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการเมื่อราคาผลผลิตต่ำกว่าราคาท้องตาด 3. มาตรการส่งเสริมการแปรรูป เงินหมุนเวียน วงเงิน 400,000 บาท มุ่งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 4 กลุ่มในจังหวัดจันทบุรี ให้ดำเนินการแปรรูปมังคุดเพื่อดูดซับผลไม้ออกจากระบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน 4. มาตรการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทย เงินจ่ายขาด วงเงิน 5,000,000 บาท มีแผนเร่งส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการบริโภคผลไม้ไทยภายในประเทศ 4 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และกรุงเทพฯ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในต่างประเทศคือประเทศเวียดนามซึ่งมีศักยภาพตลาดสูง
...งบประมาณบริหารจัดการโครงการฯ การติดตาม ประเมินผลและอื่น ๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานโครงการ วงเงิน 3,837,000 บาท…
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นการระบายผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกจะให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ จำนวน 611,472 ตัน คิดเป็น 80.98% นอกจากนั้นยังใช้งบจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยองในการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้จำนวน 55,878 ตัน คิดเป็น 7.40% ของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดทั้งหมด ซึ่งการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตผลไม้ให้กระจายสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว จะช่วยป้องกันปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th