data-ad-format="autorelaxed">
น้ำหมักชีวภาพ พด.6 กับ อีเอ็มบอล ความเหมือนที่แตกต่าง จากกรณีที่มีหลายหน่วยงานได้ออกมาสนับสนุนและช่วยเหลือในการฟื้นฟูบำบัดน้ำเน่าเสียในพื้นที่ประสบอุทกภัย ด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยงานที่ทำขึ้นมา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจและเรียกรวมผลิตภัณฑ์ที่บำบัดน้ำเสียว่า อีเอ็ม หรือ อีเอ็ม บอล “น้ำหมักชีวภาพ พด.6”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู หรือเห็นเมื่อเกิดการเกาะกลุ่มกัน ซึ่งจุลินทรีย์ ประกอบด้วย แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และยีสต์ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นจุลินทรีย์ที่มีทั้งประโยชน์และโทษ สำหรับ EM ที่ใช้กันมากทางการเกษตร ย่อมาจากคำว่า Effective Microorganism แปลว่า จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นหลักการเดียวกัน ที่นำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ขณะนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น จึงได้มีการคัดเลือกจุลินทรีย์กลุ่มหนึ่งมาใช้ประโยชน์ แต่มีการเรียกชื่อผลิตภัณฑ์ของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนการผลิตขายโดยเอกชน ในชื่อที่แตกต่างกัน รวมถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างกัน เช่น เป็นของเหลว เป็นลูกบอล หรือเป็นผง
ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้เรียกว่า “น้ำหมักชีวภาพ พด.6” โดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ ได้คัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.6 ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ประกอบด้วย ยีสต์ ทำหน้าที่ผลิตแอลกอฮอล์ช่วยรักษาความสะอาด แบคทีเรียย่อยโปรตีน และแบคทีเรียย่อยไขมัน ช่วยย่อยสลายซากสัตว์และไขมันได้เร็วขึ้น ไม่ให้เกิดการหมักหมม จนเกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น รวมทั้งแบคทีเรียที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวร้ายที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเหม็น แล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ในรูปของเหลวสีน้ำตาล เรียกว่า น้ำหมักชีวภาพ พด.6 ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาและใช้มาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว รวมทั้งได้มีการศึกษา วิจัย ทดสอบถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ จนเป็นที่มั่นใจได้ในประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ดังกล่าว รวมทั้งได้มีการนำไปใช้ในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทย และเหตุการณ์พายุนากิสถล่มประเทศพม่า
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สำหรับการผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เกิดการเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นในครั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากระบวนการผลิตและคุณภาพน้ำหมัก จะได้รับการควบคุมและตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด ประกอบกับได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ผลเป็นที่ยอมรับและมีเสียงยืนยันตอบรับที่ดี ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่าน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ที่กรมพัฒนาที่ดินผลิตขึ้นนั้น สามารถนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเน่าเสียในชุมชนได้จริง และไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ ตลอดจนไม่ส่งผลทำให้น้ำเน่าเสียมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การนำน้ำหมักชีวภาพ พด 6 ไปใช้งาน ถ้าต้องการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องใช้ในบริเวณน้ำนิ่ง และใช้ในปริมาณที่เหมะสม คือ น้ำหมักชีวภาพ 50 ลิตร ต่อพื้นที่ 250 ตร.ว. ที่ระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร ซึ่งถ้าพื้นที่ใดมีระดับน้ำสูงกว่านี้ ก็ให้เพิ่มสัดส่วนน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ขึ้นไปอีก และถ้ากลิ่นยังไม่หาย สามารถใส่ซ้ำได้อีกในอัตราสัดส่วนเดิม เช่น พื้นที่ 1 ไร่ ระดับน้ำสูง 50 ซม. ใช้น้ำหมัก 80 ลิตร พื้นที่ 100 ตร.ว. ระดับน้ำสูง 50 ซม.ใช้น้ำหมัก 20 ลิตร พื้นที่ 100 ตร.ม. ระดับน้ำสูง 50 ซม.ใช้น้ำหมัก 5 ลิตร โดยเทในน้ำเสียทุก ๆ 3–7 วัน จนกว่าน้ำจะใสและกลิ่นลดลง
...เกษตรกรหรือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำเน่าเสีย สามารถแจ้งขอรับการช่วยเหลือได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กท. 10900 โทรฯ สายด่วน 1760 กด 7 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดทั่วประเทศ.
อ้างอิง : www.dailynews.co.th