data-ad-format="autorelaxed">
สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อนุมัติแผนหรือโครงการเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท ประเดิมเวทีแรกที่ภาคเหนือ มีองค์กรได้รับการอนุมัติเงินกู้ 8 องค์กร เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท ซึ่ง 1 ใน 8 ที่ได้รับเงินกู้ในคราวนี้ มีอาชีพพื้นเมืองที่น่าสนใจและสร้างรายได้ให้กับองค์กรเป็นอย่างดี คือ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ (หมูดำ) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ภายในกันยายน 2554 ปีนี้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีนโยบายจะอนุมัติเงินกู้ให้กับองค์กรที่กู้ไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวน 409 องค์กรจากทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูอาชีพหลักหรือสร้างอาชีพเสริมตามแผนที่เสนอ โดยสมาชิกกลุ่ม ดังกล่าวได้เลี้ยงหมูพื้นเมืองผสม คือ “หมูดำ” ป้อนให้กับตลาดและผู้บริโภคในชุมชนและท้องถิ่นที่มีความต้องการสูง เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่สมาชิกได้
นางมาลี ใจไชย ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ (หมูดำ) อยู่บ้านเลขที่ 295 หมู่ 4 ตำบลบ่อ บอกว่า เนื่องจากประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงนิยมบริโภคเนื้อหมูดำมากกว่าหมูขาว ประกอบกับมีชนเผ่า “เมี่ยน” ที่มักใช้หมูดำเพศผู้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้หมูดำมีราคาดี ตลาดในชุมชนและท้องถิ่นมีความต้องการสูง จึงได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหมูดำขึ้นเมื่อปี 2543 โดยสมาชิกเลี้ยงหมูแบบหลังบ้าน เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ปัจจุบันกลุ่ม มีเกษตรกรสมาชิก 63 ราย ดำเนินกิจกรรมเลี้ยงหมูดำ แปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อหมู อาทิ แคบหมูเมือง และแหนมหมู เป็นต้น
หมูดำที่กลุ่มเลี้ยงเป็น หมูพื้นเมืองลูกผสมเหมยซานกับพันธุ์ดูร็อค เป็นหมูที่เลี้ยงง่าย กินเก่ง มีความแข็งแรงและต้านทานต่อโรค โดยกลุ่มจะขึ้นทะเบียนหมูของสมาชิกทุกรายไว้ เน้นให้เลี้ยงรายละไม่เกิน 4 ตัว ขณะนี้มีหมูดำอยู่ในบัญชี 80-100 ตัว ซึ่งทำให้สามารถวางแผนการผลิตได้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งหมูให้ผู้ชำแหละหรือเขียงหมูในหมู่บ้าน 5 เขียงที่ชำแหละหมูหมุนเวียนกันไปวันละ 1 เขียง
สมาชิกใช้ระยะเวลาเลี้ยงหมูดำประ มาณ 4-5 เดือน ก็จับส่งขายได้ โดยกลุ่ม ส่งหมูให้เจ้าของเขียงในหมู่บ้านวันละ 1 ตัว (เว้น วันพระ) ราคาอยู่ที่ตัวละ 5,000-6,000 บาท ซึ่งเขียงหมูจะชำแหละเนื้อขาย กิโลกรัมละ 130 บาท ส่วนหมูดำเพศผู้ที่ขายให้กับชนเผ่าเมี่ยน อายุ 2-3 เดือน ราคาตัวละประมาณ 3,000-4,000 บาท โดยเฉลี่ยเกษตรกรสมาชิกจะมีกำไรจากการขายหมูดำไม่น้อยกว่า 1,200 บาท/ตัว
เธอยังบอกอีกว่า สำนักงานกองทุน ฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดน่าน ได้ส่งเสริมให้กลุ่ม เสนอแผนโครงการฟื้นฟูอาชีพฯ เพื่อขอรับเงินสนับสนุนในการฟื้นฟูอาชีพหลัก สร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ โดยกลุ่ม เสนอขอรับเงินสนับสนุน วงเงิน 380,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้กับสมาชิกในการเลี้ยงหมูดำและพัฒนากิจกรรมต่อเนื่องตามแผน ที่เสนอ คือ ส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิก 4 ราย ให้ผลิตลูกหมูดำป้อนแก่สมาชิกที่มีความต้องการ โดยใช้แม่พันธุ์ 8 ตัว นอกจากนั้นยังมีแผนขยายกำลังการผลิต โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกและสนับสนุนการซื้อหมูดำมาเลี้ยงเพื่อป้อนสู่ตลาดและรองรับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังจะตั้งเขียงหมูและชำแหละเนื้อขายเอง พร้อมพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มช่องการจำหน่ายซึ่งจะทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น
หากสนใจ “การเลี้ยงหมูดำ” ของเกษตรกลุ่มฯ นี้ สามารถติดต่อได้ที่ 295 หมู่ 4 ตำบลบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โทร. 08-1960-7055 หรือถ้าองค์กรเกษตรกรที่จะเสนอแผนโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดทุกจังหวัด.
อ้างอิง: http://www.dailynews.co.th