data-ad-format="autorelaxed">
ส่งออกชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงกุ้งไทย "เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็ง ค่าแรงงานแพง" แนะควบคุมซัพพลายตั้งแต่ต้นทางคือคุมการผลิตลูกกุ้ง เผยแก้ปัญหาปลายทางทำได้ยาก ด้านเกษตรกรชี้ผลผลิตกุ้งปีนี้ไม่น่าล้นและราคาไม่น่าดิ่ง เพราะการเลี้ยงยังสุ่มเสี่ยงโรคระบาด
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ผู้ส่งออกกุ้งมีความกังวลกับสถานการณ์ส่งออกปีหน้า มีแนวโน้มไม่สดใส เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะกระทบ โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยเกิดขึ้นแน่ได้แก่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรปชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็ง ค่าแรงงานแพง โดย 3 ตลาดหลักคิดเป็นสัดส่วนถึง 70-80% ของตลาดส่งออกกุ้งไทย ตลาดอื่นๆเพียง 15% หากการส่งออกลดลงแถมค่าเงินบาทยังแข็งอีก ต้นทุนผลิตแพงจากค่าจ้างแรงงานที่จะขยับสูงขึ้นอีกในที่สุดจะกระทบมาถึงราคาที่เกษตรกรขายได้ภายในประเทศ
"ปีที่ผ่านมาราคากุ้งไทยแพง ลูกค้ามีปฏิกิริยาหลายอย่างเช่น ปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อจากที่เคยสั่งซื้อระยะยาวก็เปลี่ยนมาเป็นสั่งซื้อระยะสั้น ปีนี้ต่อปีหน้าเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ ความต้องการสั่งซื้อย่อมชะลอลงอย่างแน่นอน จะให้ผู้ส่งออกไปหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดหลักที่ประสบปัญหาคงจะทำได้ยาก แค่จะทำให้คนไทยหันมาบริโภคกุ้งมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะคนจะบริโภคอาหารที่หลากหลายทั้งเนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง แต่อยู่ๆ วันหนึ่งจะบังคับให้บริโภคกุ้งเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ยาก ที่สำคัญปีที่ผ่านมาราคากุ้งไทยแพง ปีนี้เกษตรกรพยายามเลี้ยงกันมากขึ้น แม้ว่าช่วงต้นปีจะประสบภัยน้ำท่วม แต่รอบต่อมาก็พยายามลงเลี้ยงกุ้งกันอีก คิดว่าไม่น่าเกิน 2 เดือนข้างหน้า เกษตรกรจะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการรับจำนำกุ้ง"
ดร.ผณิศวร กล่าวว่าปัญหากุ้งหากจะแก้กันที่ปลายทางคือหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิมที่มีปัญหา รณรงค์ให้คนบริโภคกุ้งมากขึ้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นจากสถานการณ์ตลาดส่งออกที่ไม่เอื้ออำนวยปลายปีนี้ต่อเนื่องต้นปีหน้า คิดว่าควรจะมีการควบคุมปริมาณตั้งแต่การผลิตลูกกุ้ง เพราะถ้าหากปล่อยให้มีการผลิตลูกกุ้งออกมามากเลี้ยงเป็นกุ้งโตแล้วจะแก้ปัญหาได้ยาก ด้านนายเอกพจน์ ยอดพินิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าผลผลิตกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของผลผลิตทั้งประเทศ ปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เพราะการเลี้ยงกุ้งยังคงประสบปัญหาโรคขี้ขาว แม้ว่าการเลี้ยงรอบที่ลงลูกกุ้งช่วงเดือนมิถุนายนและจับเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเกษตรกรจะได้ผลผลิตค่อนข้างดีเพราะอากาศทางภาคใต้ปลอดโปร่ง แต่ปลายปีนี้ยังไม่มั่นใจสภาพภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยหรือไม่
ทั้งนี้จากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้ประสบปัญหาภัยธรรมชาติน้ำท่วมฟาร์มกุ้งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2554 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ได้ประชุมร่วมกันเพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรควบคุมการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาคือประมาณ 400,000-500,000 ตัน หรือหากได้รับความเสียหายก็ไม่ควรมากกว่า 50,000 ตัน เพราะหวั่นว่าหากผลผลิตลดลงไปมากห้องเย็นหรือผู้ส่งออกจะหันไปนำเข้ากุ้งจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปส่งออก ซึ่งน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายคือผลผลิตใกล้เคียงปีที่ผ่านมา
แหล่งข่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรยังมีความพอใจกับราคากุ้งที่ขายได้ เพราะยังมีกำไรและควบคุมต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด และคิดว่าห้องเย็นจะยังไม่น่าลดราคารับซื้อให้ต่ำลงเพราะเวลานี้เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังไม่มีผลบังคับใช้ และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ได้กระทบอย่างชัดเจน อุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบน่าจะยังไปได้ดีอยู่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังไม่ได้กระทบ ณ เวลานี้
อ้างอิง:
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,668 8-10 กันยายน พ.ศ. 2554
http://www.thanonline.com