data-ad-format="autorelaxed">
สภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ หรือ IRRDB มีสมาชิกเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านยางพาราจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 19 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา บราซิล แคเมอรูน จีน โคดีวัว ฝรั่งเศส กาบอง เอธิโอเปีย อินเดีย กัวเตมาลา อินโดนีเซีย เม็กซิโก มาเลเซีย ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย พม่าและเวียดนาม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมใหญ่เป็นประจำทุกปี ส่วนปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่
นายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ ในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มบริหารโครงการวิจัย สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรเผยรายละเอียดการจัดประชุมใหญ่ประจำปีของสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในระหว่าง 7-12 พฤศจิกายน 2554 ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดย วันที่ 7-8 พฤศจิกายน จะเป็นการประชุมเพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการ วันที่ 9 พฤศจิกายน ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ 2554 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ส่วน วันที่ 10 พฤศจิกายน ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการผู้อำนวยการและผู้บริหาร และ วันที่ 11 พฤศจิกายน จะมีการประชุมคณะกรรมการสภาวิจัย (Board) ก่อนทั้งหมดจะศึกษาดูงานพืชสวนโลกฯ ใน วันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม
สำหรับการจัดประชุมทางวิชาการ หรือ 2011 IRRDB International Rubber Conference ที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมได้ทั้งในฐานะผู้เข้าฟังและผู้นำเสนอผลงานวิจัยด้านยางพาราในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน นั้น สถาบัน วิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมงานด้านต่าง ๆ การประชุมทางวิชาการครั้งนี้ตั้งประเด็นและเน้นความสำคัญของยางพาราว่า “Towards a Better World and Quality of Life: Challenges and Opportunities for the NR Industry” เนื่องจากเห็นว่ายางพาราได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ดังตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นยางล้อ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภคต่าง ๆ ประจำวัน ที่ช่วยให้ชีวิตคนมีความปลอดภัย มั่นคง และสะดวกสบายยิ่งขึ้นตลอดมา ทั้งยางพารายังเป็นพืชที่สามารถกักเก็บธาตุคาร์บอนจากบรรยากาศได้เป็นอย่างดียิ่ง ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนไปได้มากแม้ว่าขณะนี้ชาวสวนยางจะยังไม่ได้ผลตอบแทนจากการนี้ก็ตาม ประเด็นสุดท้ายคือยางพาราช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนับหลายสิบล้านคนจากทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวอย่างมากมาย ดังนั้นการนำเสนอผลงานทางวิชาการครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอผลงานด้านต่าง ๆ ที่ท้าทายและส่งเสริมให้โลก สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้บริโภคยางพาราและเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งการวิจัยและพัฒนายางเพื่อให้การบำรุงรักษาและการจัดการสวนยางทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์ วิธีการปลูก รูปแบบการจัดสวนยาง เทคนิคการกรีด ตลอดจนเรื่องโรคและศัตรูต้นยางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หากนักวิชาการและผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมรับฟังการประ ชุมทางวิชาการและต้องการนำเสนอผลงานวิจัยด้านยางพาราในครั้งนี้ ขอให้ติดต่อส่งหัวข้อผลงานวิจัยได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2554 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ irubber [email protected]
อ้างอิง : http://www.coopinthailand.com/viewnews.php?news_id=2924