data-ad-format="autorelaxed">
นายนำชัย พรหมมีชัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น มีนโยบายชัดเจนที่จะช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะเรื่องของหนี้สินเกษตรกร ที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหลายคณะเพื่อหาแนวทางในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่เป็นหนี้อยู่ประมาณ 4.6 แสนราย
นอกจากนี้ยังมีการผลักดันมาตรการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยในช่วงเดือนกรกรฎาคมที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากประสบความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรมหรือกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ได้มีมติเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งภายใต้กรอบงบประมาณ 82 ล้านบาท โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ซึ่งแบ่งเป็น 1.สนับสนุนงบประมาณ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินกลุ่มละ 30,000 บาท 2. กิจกรรมในโครงการที่เสนอรับการสนับสนุนต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกิจกรรมที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการช่วยเหลืออื่นๆของรัฐ และ 3. สนับสนุนการปรับเกลี่ยพื้นที่รวมถึงค่าซ่อมแซมวัสดุ และค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ ด้านการแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรโดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อการนำมาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตและด้านการรวบรวมผลผลิตเชื่อมโยงตลาด เป็นต้น ในการให้งบประมาณประเภทเงินอุดหนุน (ให้เปล่า) เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกร
โดยที่ผ่านมาโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สามารถช่วยเหลือ ต่อยอดกิจกรรมให้กับเกษตรกรสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ และยื่นเสนอโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพของสมาชิก ในการขอรับเงินสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูอาชีพ
อย่างเช่นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนาเกษตร ต.สวนป่าน อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นกลุ่มเกษตรกรอีกหนึ่งกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯแม้จะมีสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร การเลี้ยงวัวนม วัวขุน เลี้ยงสุกร เลี้ยงปลาและปลูกพืช กำลังประสบปัญหาต้นทุนมีราคาสูงขึ้นทำให้ไม่สามารถจะหาแหล่งเงินมาลงทุนประกอบอาชีพ มีสมาชิกในกลุ่ม 3 คน ได้เสนอของบประมาณในการเลี้ยงปลาเพื่อแปรรูปหรือการทำปลาส้ม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้และช่องทางการจำหน่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม นางสมคิด น้อยหาประธานกลุ่มเลี้ยงปลาเพื่อแปรรูปได้กล่าวถึงขั้นตอนในการทำว่าใช้ปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลานิลหรือปลาสวายก็ได้ ตัวปลาควรมีน้ำหนัก 1 ก.ก.ขึ้นไป วัตถุดิบที่ใช้ประกอบการทำปลาส้มก็มี เนื้อปลาแล่ออกมาแล้ว 30 ก.ก. กระเทียมบด 1 ก.ก. เกลือป่น½ก.ก. ข้าวสุกที่หุงสรงน้ำแล้ว(ข้าวที่ล้างน้ำแล้วพักไว้) ประมาณ2 ก.ก. ข้าวสุกต้องปล่อยให้เย็นก่อนและพักไว้
ส่วนวิธีแล่เนื้อปลาเพื่อนำมาใช้นั้นสามารถแล่เนื้อติดก้างได้ เวลานำไปทอดเนื้อปลาก็จะหลุดออกมาเองพอหลังจากเราแล่เนื้อปลาเสร็จแล้วล้างให้สะอาดใช้เกลือป่นล้างเมือกและดับกลิ่นคาวปลา ไม่ให้มีเลือดติดเนื้อปลาหากยังไม่สะดวกสามารถนำไปแช่เย็นไว้ได้ 2-3 วัน ปกติทางกลุ่มจะใช้เกลือ½ก.ก. กับปลา 12 ก.ก.แล้วก็นำมาใส่กระเทียมบดประมาณ 1 ก.ก.จะเลือกใช้กระเทียมจีนหรือกระเทียมไทยก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก ต่อไปเราก็ใส่ข้าว(ข้าวที่ล้างน้ำแล้วพักไว้) นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันหลังจากนั้นก็นำไปใส่โหลเพื่อเตรียมการหมักใช้เวลาประมาณ5-7 วัน และคอยสังเกตน้ำในโหลจะเป็นสีขาวขุ่นๆ ถือว่าใช้ได้แล้วนำไปปรุงเป็นอาหารและจำหน่ายในท้องตลาดโดยทางกลุ่มจะนำไปจำหน่ายครั้งละประมาณ 30 ก.ก. และนำไปฝากขายตามร้านค้าในชุมชนในพื้นที่และใกล้เคียง เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภค มียอดสั่งจองเข้ามา เป็นการสร้างรายได้และชื่อเสียงกับท้องถิ่นอีกช่องทาง ทั้งนี้สามารถติดต่อสั่งจองได้ที่ 097-157-0474 นางสมคิด กล่าว.
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตกร