data-ad-format="autorelaxed">
ยังเป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตามต่อเนื่อง สำหรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ที่จะส่งผลกระทบกับคนไทยทุกภาคส่วน วันที่ 11 ต.ค. 2560 กองบรรณาธิการ “ฐานเศรษฐกิจ” ร่วมกับสถานีข่าวสปริงนิวส์ จัดเสวนาหัวข้อ “ชำแหละ พ.ร.บ.น้ำ : ประชาชนรับกรรม?” มีวิทยากรตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนาคับคั่ง ประกอบด้วย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) และกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... , ดร.อภิชาต อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย, นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) ในเครืออีสท์วอเตอร์ และนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการนํ้าแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)
… มาตรา 39 ล่อแหลมสุด! ...
นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.นี้ ที่มองว่า ล่อแหลมมากสุด คือ มาตรา 39 ว่าด้วยการจัดสรรน้ำ ที่แบ่งน้ำออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.น้ำเพื่อการยังชีพ 2.น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และ 3.การใช้น้ำขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องมีข้อยกเว้นบางส่วนในการจัดเก็บค่าน้ำ หากไปเขียนทั้งหมดเป็นกฎกระทรวงจะถูกต่อต้านแน่ ความเห็นส่วนตัวที่เคยพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับน้ำมาหลายฉบับมาก่อนหน้านี้ก็เคยท้วงติง และเคยคว่ำกฎหมายมาแล้ว ครั้งนี้จะสังเกตเห็นว่า หากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ห่วงก็คงไม่ขยายเวลาพิจารณาออกไป เพราะรับหลักการมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 ล่าสุด ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติขยายเวลาพิจารณาร่างออกไปอีก 90 วัน จากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 25 ม.ค. 2561 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
“พอเราพูดเรื่องคำว่า ‘น้ำเกษตรกร’ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ผ่านมา ส.ส. ไม่มีใครกล้าเสนอกฎหมายนี้ เพราะพูดคำว่า ‘น้ำเกษตรกร’ แล้วเก็บเงินไม่ผ่านทันที แต่อันนี้ล็อกไว้เลยในมาตรา 39 หมวดการจัดสรรน้ำ แบ่งน้ำออกเป็น 3 ประเภทข้างต้น โดยในประเภทที่ 1 ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการยังชีพ เพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน เพื่อเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ และการใช้น้ำในปริมาณน้อย ประเภทที่ 1 นี้ ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ”
ดร.อภิชาต อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรนํ้าแห่งประเทศไทย
… ห่วง ก.ก.ลุ่มน้ำ ทำงานยาก ...
ดร.อภิชาต กล่าวว่า ในกฎหมายน้ำมีองค์กรหรือคณะกรรมการกำกับดูแลใน 3 ระดับ 1.ระดับชาติหรือระดับนโยบาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.คณะกรรมการระดับลุ่มน้ำ ใน 25 ลุ่มน้ำ (มีผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งในเขตลุ่มน้ำเป็นประธาน) และ 3.กรรมการระดับผู้ใช้น้ำ ที่เห็นว่า สำคัญสุด คือ คณะกรรมการลุ่มน้ำที่เป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการและจัดสรรน้ำให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าน้ำที่อยู่ในภาวะปกติ น้ำท่วม น้ำแล้ง มีน้ำเสียปะปน หรือมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่ต้องพิจารณาอย่างเป็นธรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะแต่ละลุ่มน้ำมีสภาพสังคม เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์ที่ตั้งแตกต่างกัน
“ในอดีตเรามีคณะกรรมการลุ่มน้ำ แต่มีปัญหามาก ทำงานไม่ได้ จากขอบเขตของลุ่มน้ำต่างกัน ลุ่มน้ำหนึ่งครอบคลุมหลายจังหวัด และบางจังหวัดอาจอยู่หลายลุ่มน้ำ คำถาม คือ คณะทำงานนี้จะทำงานอย่างไร จะจัดสรรน้ำอย่างไร อันที่ 2 คือ เราพยายามจะให้กรรมการลุ่มน้ำมีบทบาทชัดเจนในการพิจารณาแผนงานในแต่ละลุ่มน้ำ แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่ เพราะมีหลายหน่วยงานจากหลายกระทรวงในแต่ละจังหวัด และไม่ได้ดูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่วนใหญ่ยังติดยึดขอบเขตจังหวัดใครจังหวัดมัน เรื่อง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำนี้ เราอยากให้เป็นกฎหมายหลัก หรือ Master Law ครอบคลุมเรื่องน้ำทั้งหมดของประเทศซึ่งกฎหมายอื่น ๆ จะต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมายนี้”
เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน)
… เอกชนขอมีส่วนร่วม ...
ด้าน นายเชิดชาย กล่าวว่า เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่ผู้มีส่วนได้เสียควรมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมาได้ยินเสียงจากภาคเกษตรกรมาพอสมควร แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ภาคสาธารณูปโภค ก็น่าจะมีส่วนร่วมในการที่จะระดมความคิดเห็นเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อช่วยกันในภาพรวม และเพื่อทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ไม่ใช่ไปเพิ่มภาระต้นทุนให้มากเกินไป
“กลุ่มอีสท์วอเตอร์ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะในการผลิตน้ำประปา สัดส่วนราว 10% หากต้องเสียค่าน้ำในส่วนนี้ตามที่มีข่าวออกมาในอัตราที่ 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าเรารองรับไม่ไหวจริง ๆ ก็อาจมีการขอขยับราคาลูกค้าบ้าง แต่คงไม่ขยับเท่ากับอัตราที่เพิ่มขึ้น เพราะอีกส่วนหนึ่งเรามีการลงทุนระบบท่อส่งน้ำไปยังภาคอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ และยังมีต้นทุนด้านพลังงาน ที่ผ่านมาต้นทุนจากน้ำคิดเป็นสัดส่วน 20-30% จากค่าน้ำที่เราใช้จากกรมชลประทาน (สัดส่วน 90%) ต้องจ่าย 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร”
สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและ
เกษตรกรไทย
… ค่าน้ำชาวนาให้ยกออก! ...
ขณะที่ นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า การปลูกข้าวของชาวนาวันนี้ ต้นทุนน้ำมาจากธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งรัฐต้องบริหารจัดการให้คนไทยหรือเกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างเพียงพอและคุ้มค่า ไม่ใช่มาเก็บเงินค่าใช้น้ำที่มาจากฟ้า ปัจจุบันยอมรับว่า ภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำนาต้องใช้น้ำมาก แต่ไม่มีใครไปให้ความรู้เรื่องการลดต้นทุน เพราะยิ่งใช้น้ำมากก็เพิ่มต้นทุนมาก เช่น สูบน้ำเข้านา 1 ไร่ มีค่าน้ำมัน 400-500 บาท
“เรื่องการเก็บค่าน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะจากเกษตรกรเป็นการไม่สมควร วันนี้รัฐบาลต้องเอากฎหมายนี้ไปทบทวน แล้วยกออกไปเลย เพราะถ้าอย่างนี้คุยกันไม่รู้เรื่อง ชาวนาตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ นอกจากนี้ก็ไม่ควรแบ่งว่า ทำนากี่ไร่ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เท่าไหร่ต้องเสียค่าน้ำ เพราะมันแบ่งไม่ได้ ขอตั้งคำถามว่า เขียนกฎหมายออกมาลักษณะนี้ วัตถุประสงค์เพื่ออะไร เพื่อจัดการน้ำให้ดีใช่หรือไม่ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อน้ำเพียงพออุปโภคบริโภค พอเลี้ยงชีพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง หรือเพื่อจะเอาเงินเข้ารัฐบาล?”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560