data-ad-format="autorelaxed">
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 26/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร เพื่อทำหน้าที่กำหนดวิธีการ แนวทางการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรในระดับพื้นที่ รวบรวมข้อมูลหนี้สินเกษตรกรในพื้นที่ กลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร จัดทำสรุปรายชื่อเกษตรกร จำนวนมูลหนี้ และสรุปวงเงินเพื่อใช้สำหรับการจัดการหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจเพื่อพิจารณา
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกรได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้จำนวน 512,889 ราย 646,394 บัญชี มูลหนี้ 84,710,774,031.83 ล้านบาท โดยคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้ระดับจังหวัดและอำเภอ จะทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อเกษตรกร ข้อมูลหนี้สิน โดยจัดทำสรุปรายชื่อเกษตรกร จำนวนมูลหนี้ แยกประเภทมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาทหรือไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำแนกประเภทหนี้และสถานะหนี้ เช่น หนี้ล้มละลาย หนี้ขายทอดตลาด หนี้บังคับคดี (ยึดทรัพย์) หนี้พิพากษา หนี้ฟ้องร้องดำเนินคดี หนี้ผิดนัดชำระ (NPL) หนี้ปกติ จำแนกวัตถุประสงค์การกู้ ว่าเป็นหนี้อันเนื่องจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือกู้เพื่อการอื่น จำแนกว่ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือบุคคลค้ำประกัน เป็นต้น
นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลหนี้ระดับจังหวัดและอำเภอ เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงขอแจ้งให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทะเบียนหนี้) กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มายืนยันสิทธิ์เพื่อรับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม 2560 เกษตรกรสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านหลังจากนั้นทางอำเภอจะกำหนดวัน เวลา สถานที่นัดหมายเพื่อให้เกษตรกรมาให้ข้อมูลยืนยันตัวตน และให้เกษตรกรนำบัตรประชาชนมายื่นแสดงตัวตนในวันดังกล่าวด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)