data-ad-format="autorelaxed">
หลายประเทศทั่วโลกเลิกใช้นานแล้ว บ้านเราเพิ่งประกาศ ห้ามใช้เด็ดขาด “พาราควอต” และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นปี 62 ชี้ พาราควอตพิษเฉียบพลันสูงและไม่มียาถอน และคลอร์ไพริฟอส ใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่ามด ปลวก ปลวกตามบ้านมีผลต่อสมอง ไอคิวเด็กลด ขณะอีกตัว ไกลโฟเสต หรือยาฆ่าหญ้า ก่อมะเร็ง-ขบวนโรคเรื้อรัง กำชับการใช้อย่างเข้มงวด ออก 4 ข้อห้ามเพื่อความปลอดภัยเกษตรกร-ผู้บริโภค
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดการปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ตัว ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต เพื่อให้ประชาชนในประเทศทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นธ.ค.62 ซึ่งสารทั้ง 2ตัวนี้ถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียน ยุติการนำเข้าเดือนธ.ค.61 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด
ทั้งนี้ พาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีการใช้ 29.8 ล้านกิโลกรัม ในปี 58 มีพิษเฉียบพลันสูง และยังไม่มียาถอนพิษ 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกใช้แล้ว ส่วนคลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือนกำจัดมด ปลวก เห็บแมลงสาบ พบตกค้างสูงสุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน ผักผลไม้
ส่วนสารไกลโฟเสตเป็นสารกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่มีปริมาณนำเข้าสูงสุด 58.1ล้านกิโลกรัมและมีการใช้ในประเทศ 57.6 ล้านกิโลกรัม ในปี 58 องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น 22 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ เป็นต้น ที่ประชุมมีข้อเสนอให้บังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่โดยจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ดังนี้ 1.ห้ามใช้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่สูงและพื้นที่ต้นน้ำ 2.ห้ามใช้ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง 3.ห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะ 4.ห้ามใช้ในเขตชุมชนโดยจะมีการให้ความรู้/สร้างความเข้าใจ/มาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐผู้ประกอบการ เกษตรกร ก่อนที่จะออกประกาศเงื่อนไขพื้นที่ห้ามใช้ และเขตห้ามใช้ต่อไป
source: siamrath.co.th/n/12980